Abstract:
การศึกษาเรื่องการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมของพนักงานการไฟฟ้านครหลวงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมของพนักงานการไฟฟ้านครหลวง โดยใช้แนวคิดแบบปัจจัยหลายปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรม ประกอบด้วยปัจจัยภายในตัวบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ความคาดหวังประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และการเปิดรับสารเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ส่วนปัจจัยภายนอกตัวบุคคล ได้แก่ การศึกษา รายได้ และขนาดของครัวเรือน กลุ่มตัวอย่างพนักงานการไฟฟ้านครหลวงที่ศึกษา เลือกด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน มีจำนวนทั้งสิ้น 349 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีให้กรณีตัวอย่างกรอกแบบสอบถามเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติการวิเคราะห์การถดถอยแบบง่าย การวิเคราะห์การถดถอยพหุ และการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างพนักงานการไฟฟ้านครหลวงมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในระดับที่ค่อนข้างเหมาะสม ผลการวิเคราะห์การถดถอยอย่างง่ายพบว่า การใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมแปรผันตามอายุ ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และรายได้ และแปรผกผันกับเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนการวิเคราะห์การถดถอยพหุพบว่า ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกตัวบุคคลทั้งหมดอธิบายการแปรผันของการใช้ไฟฟ้าได้ร้อยละ 15.7 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สำหรับการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบขั้นตอนพบว่า ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมสามารถอธิบายการแปรผันของการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมได้ดีที่สุด คือ ร้อยละ 8.2 รองลงไปเป็นทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม การศึกษา และอายุ โดยอธิบายเพิ่มเติมได้ร้อยละ 3.3, 2.5 และ 1.0 ตามลำดับ ส่วนตัวแปรอิสระอื่นๆ ไม่เพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05