Abstract:
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เงื่อนไขสำคัญของพหุสัมพันธ์ขององค์กร ที่มีผลต่อการระดมทรัพยากรของกลุ่มชาวบ้านกรูดและบ่อนอกเพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด และโรงไฟฟ้าบ่อนอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 การศึกษานี้ อาศัยระเบียบวิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสำรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการคัดค้าน นอกจากนี้ มีการใช้ข้อมูลสถิติ และข้อมูลเอกสารประกอบการศึกษาด้วย การศึกษา พบว่า การคัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูดและบ่อนอกนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการตระหนักถึงผลกระทบต่อชุมชนอันเนื่องมาจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งนำไปสู่เหตุผลต่างๆในขบวนการคัดค้านโดยผ่านกระบวนการค้นพบความจริงของปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสองโครงการ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การต่อสู้มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ ความเชื่อมโยงกัน (linkage) ขององค์กรพันธมิตรในระดับท้องถิ่น ในระดับจังหวัด และในระดับประเทศ องค์กรพันธมิตรมีความสัมพันธ์กันภายในภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำให้กลุ่มชาวบ้านกรูดและบ่อนอกสามารถระดมทรัพยากรต่างๆ เพื่อเสริมสร้างอำนาจต่อรองให้แก่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม บทบาทขององค์กรพันธมิตรนอกท้องถิ่น มีผลแตกต่างกันต่อการระดมทรัพยากรของท้องถิ่นเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์ภายในท้องถิ่นเองเป็นสำคัญ จากการเปรียบเทียบระหว่างความสัมพันธ์ภายในชุมชนบ้านกรูดและชุมชนบ่อนอก พบว่า มีความแตกต่างกันในเรื่องลักษณะของความสัมพันธ์ภายในท้องถิ่น ที่บ่อนอก มีความใกล้ชิดกันระหว่างองค์กร กลุ่ม และเครือข่ายภายในท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งทำให้กลุ่มชาวบ่อนอกสามารถระดมมวลชนได้มากกว่า และเข้าถึงทรัพยากรด้านอำนาจในระดับท้องถิ่นได้มากกว่า ที่บ้านกรูด ความสัมพันธ์ภายในชุมชนมีความแตกแยกกัน ซึ่งทำให้ความสามารถในการระดมมวลชนของกลุ่มชาวบ้านกรูดน้อย อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านกรูด ได้สร้างความชอบธรรมอย่างมั่นคง โดยการประชาสัมพันธ์เรื่องปัญหาการทุจริตของโครงการ นั่นคือ กลุ่มชาวบ้านกรูดและบ่อนอกมีจุดอ่อนในการระดมทรัพยากรของละด้านกัน ด้านบ้านกรูด มีจุดอ่อนในการระดมทรัพยากรด้านมวลชนและทรัพยากรด้านอำนาจ ด้านบ่อนอก มีจุดอ่อนในการระดมทรัพยากรด้านความชอบธรรม การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวระหว่างสองกลุ่ม จึงเป็นวิธีการช่วยเสริมทรัพยากรซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของแต่ละกลุ่ม