Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบความทนแรงดึงของไฮบริไดซ์เดนทีนที่ผ่านการปรับสภาพเนื้อฟันวัวด้วยกรด 2 ชนิด กับเนื้อฟันวัวและวัสดุบูรณะเรซินคอมโพสิต โดยเตรียมชิ้นเนื้อฟันวัวรูปดัมบ์เบลล์ ขนาดพื้นที่หน้าตัด 3×1 ตารางมิลลิเมตร จำนวน 30 ชิ้น แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 10 ชิ้น อีก 20 ชิ้นนำไปเตรียมเป็นไฮบริไดซ์เดนทีนที่ผ่านการปรับสภาพเนื้อฟันวัวด้วยเฟอริกคลอไรด์ 3 เปอร์เซ็นต์ในกรดซิตริก 10 เปอร์เซ็นต์ (HD10-3) 10 ชิ้น และไฮบริไดซ์เดนทีนที่ผ่านการปรับสภาพเนื้อฟันวัวด้วยเฟอริกคลอไรด์ 1 เปอร์เซ็นต์ในกรดซิตริก 1 เปอร์เซ็นต์ (HD1-1) 10 ชิ้น โดยแช่กรดเป็นเวลา 6 ชั่วโมงและ 60 ชั่วโมง ตามลำดับ จากนั้นแช่ในโฟร์เมตา(4-META) 5 เปอร์เซ็นต์ในอะซีโตน เป็นเวลา 48 ชั่วโมง และแช่ในส่วนเหลวของเรซินซีเมนต์ชนิดซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี(4-META/MMA) เก็บไว้ในที่มืด เป็นเวลา 48 ชั่วโมง นำใส่แบบพิมพ์ที่มีส่วนผสมเรซินซีเมนต์ชนิดซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี(4-META/MMA-TBB+PMMA) ทิ้งไว้ให้วัสดุแข็งที่อุณหภูมิ 23±2 องศาเซลเซียส เตรียมชิ้นวัสดุบูรณะเรซินคอมโพสิตชนิดเมทาฟิลและพี60 รูปดัมบ์เบลล์ขนาดเท่ากัน กลุ่มละ 10 ชิ้น นำชิ้นดัมบ์เบลล์ทุกกลุ่ม เก็บไว้ในน้ำกลั่นที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำไปทดสอบค่าความทนแรงดึงด้วยเครื่องทดสอบแรงแบบสากล บันทึกค่าแรงสูงสุดที่ทำให้ชิ้นตัวอย่างหัก เปรียบเทียบพื้นผิวของชิ้นตัวอย่างด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนแบบส่องกราด จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวพบว่า ระหว่างกลุ่มมีค่าความทนแรงดึงแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.001 และการเปรียบเทียบเชิงซ้อนแบบดันเนท ทีทรี ของค่าความทนแรงดึง ได้ผลดังนี้ ค่าเฉลี่ยความทนแรงดึง±ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานระหว่างกลุ่ม HD10-3 (42.67±5.88 MPa), HD1-1 (38.28±4.53 MPa) และเมทาฟิล (47.4±6.94 MPa) มีค่าไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และระหว่างกลุ่มพี60 (79.79±10.65 MPa) และเนื้อฟันวัว (73.62±10.78 MPa) มีค่าไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 เช่นกัน จากการตรวจพื้นผิวหน้าตัดบริเวณที่หัก และพื้นผิวขัดเรียบด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนแบบส่องกราด พบว่า กลุ่ม HD10-3 และ HD1-1 มีเรซินอยู่เต็มท่อเนื้อฟันและระหว่างท่อลักษณะเรซินในท่อเนื้อฟันมีแนวโน้มไม่ยึดติดกับผนังท่อเนื้อฟัน พื้นผิวหน้าตัดบริเวณที่หักของกลุ่มพี60 มีรอยการหลุดของวัสดุอัดแทรกออกจากเรซินเมทริกซ์แต่กลุ่มเมทาฟิลไม่พบรอยการหลุดของวัสดุอัดแทรก สรุปผลการทดลองพบว่า การเตรียมไฮบริไดซ์เดนทีนโดยใช้กรด 10-3 และ 1-1 ให้ค่าความทนแรงดึงไม่แตกต่างกัน โดยมีค่าใกล้เคียงกับเมทาฟิลซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นอินทรียสาร แต่ต่ำกว่าพี60 และเนื้อฟันวัว ซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นอนินทรียสาร