Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของฮอร์โมนทดแทนในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน โดยใช้ตัวชี้วัด คือ อัตราการหลั่งของน้ำลายทั้งหมดในภาวะพัก ความเข้มข้นของแคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม และโปรตีน โดยศึกษาในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนจำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นหญิงหลังวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนจำนวน 30 คน ทั้งสองกลุ่มมีอายุระหว่าง 45-60 ปี และมีระยะเวลาการหมดประจำเดือนไม่เกิน 10 ปี ทำการศึกษาโดยการเก็บน้ำลายทั้งหมดในภาวะพักก่อนการศึกษาและภายหลัง 3 เดือน ด้วยวิธีการบ้วน บันทึกอัตราการหลั่งของน้ำลายเป็นมิลลิลิตรต่อนาที วิเคราะห์ความเข้มข้นของแคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม และโปรตีนโดยวิธีสเปคโทรโฟโตมิทรีทดสอบความแตกต่างทางสถิติระหว่างกลุ่มด้วยทีเทสต์และการวิเคราะห์ความแปรปรวนที่ระดับนัยสำคัญ {u1D631} < 0.05 พบว่าอัตราการหลั่งของน้ำลายก่อนการศึกษาของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม ({u1D631} = 0.031) แต่ไม่พบความแตกต่างภายหลัง 3 เดือน ส่วนความเข้มข้นของแคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม และโปรตีนทั้งก่อนการศึกษาและภายหลัง 3 เดือน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม สำหรับกลุ่มทดลองภายหลังได้รับฮอร์โมนทดแทน 3 เดือน พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของทุกตัวชี้วัดเมื่อเปรียบเทียบกับผลก่อนการศึกษา ผลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการได้รับฮอร์โมนทดแทนในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือนระยะเวลา 3 เดือน ไม่มีผลต่อตัวชี้วัดที่ใช้ในการศึกษานี้