Abstract:
วิกฤตหนี้ต่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980s และ 1990s ได้ส่งผลให้หลายประเทศต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน ในครั้งนี้จึงได้ทำการศึกษาถึงการเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศที่เกิดขึ้นในอดีต พร้อมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้างหนี้ต่างประเทศของประเทศที่เคยเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศลาตินอเมริกา และประเทศ sub-Saharan Africa กับประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาในเชิงปริมาณถึงโอกาสการเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศ โดยรวบรวมตัวแปรต่างๆ จากงานศึกษาที่ผ่านมา และยังได้เพิ่มตัวแปรความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามา ในการวิเคราะห์ได้อาศัยข้อมูลประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น 31 ประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990-2001 และใช้วิธีการวิเคราะห์ปัจจัยในการจัดกลุ่มตัวแปรเพื่อลดปัญหา Multicollinearity จากนั้นจึงวิเคราะห์ถึงโอกาสการเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศด้วยแบบจำลองโลจิต (Logit) จากการศึกษาพบว่าวิกฤตหนี้ต่างประเทศที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญในส่วนการเปรียบเทียบโครงสร้างหนี้ต่างประเทศนั้น พบว่าประเทศไทยมีโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่คล้ายคลึงกับประเทศลาตินอเมริกา ในขณะที่ปัญหาหนี้ต่างประเทศยังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรง ด้านการศึกษาถึงโอกาสการเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศ เมื่อทำการจัดกลุ่มตัวแปรด้วยวิธีวิเคราะห์ปัจจัยสามารถจัดกลุ่มตัวแปรได้เป็น 6 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศ ปัจจัยด้านความสามารถในการชำระหนี้ ปัจจัยด้านการก่อหนี้ต่างประเทศ ปัจจัยด้านสภาพคล่อง ปัจจัยด้านนโยบาย และ ปัจจัยภายนอก และวิเคราะห์โอกาสการเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศ โดยแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด ประเทศในกลุ่มและนอกกลุ่มลาตินอเมริกา พบว่า การแบ่งประเทศออกเป็นในกลุ่มและนอกกลุ่มลาตินอเมริกา ได้ทำการผลการวิเคราะห์โดยรวมดีขึ้น โดยปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสการเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศทั้ง 3 กลุ่มประเทศค่อนข้างแตกต่างกัน ตัวแปรที่มีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP สัดส่วนทุนไหลเข้าต่อภาระหนี้ สัดส่วนภาระหนี้ รายได้ต่อหัว อัตราการค้า สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อการนำเข้า ระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ สัดส่วนดุลรัฐบาลต่อ GDP และอัตราเงินเฟ้อ สำหรับผลการพยากรณ์ พบว่า แบบจำลองที่ได้ทั้ง 3 แบบจำลองสามารถพยากรณ์ได้ถูกต้องกว่าร้อยละ 75โดยประเทศไทยมีโอกาสเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศค่อนข้างน้อย ส่วนผลพยากรณ์ในปี ค.ศ. 1997 ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ พบว่า ประเทศที่มีโอกาสเกิดวิกฤตหนี้สูงจะเป็นประเทศที่มีปัญหาทางด้านการชำระหนี้มาก่อน ส่วนประเทศไทยและประเทศในทวีปเอเชียมีโอกาสเกิดวิกฤตเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มากนัก อย่างไรก็ตามควรมีการเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอยู่เสมอ