Abstract:
การศึกษานี้เกิดขึ้น มาจากคำถามที่ว่า การว่างงานและเงินเฟ้อจะทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และความยากจนเปลี่ยนไปอย่างไร สาเหตุสำคัญ คือ ทั้งการว่างงาน เงินเฟ้อ ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ และความยากจน ต่างก็เป็นเป้าหมายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทุกประเทศ เพราะปัญหาเหล่านี้สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ดังนั้น การศึกษาผลของการว่างงานและเงินเฟ้อต่อความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และความยากจน จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกดำเนินนโยบายของรัฐบาลว่าจะส่งผลต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และความยากจนมากน้อยเพียงใด การศึกษานี้ ได้ใช้ข้อมูลของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2529-2543 ซึ่งการศึกษาผลของการว่างงานและเงินเฟ้อต่อความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ ทำโดย การสร้างแบบจำลองสมการถดถอยพหุคูณ และใช้วิธีกำลังสองน้อยที่สุด (OLS) ในการประมาณค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ระหว่างการว่างงานและเงินเฟ้อกับการกระจายรายได้ตามหน้าที่การผลิต จากนั้นศึกษาความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ของคนในแต่ละชั้นรายได้ และนำ ผลทั้งสองมาคำนวณ เพื่อหาผลของการว่างงานและเงินเฟ้อต่อความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ ส่วนการศึกษาผลของการว่างงานและเงินเฟ้อกับความยากจน ศึกษาโดยการสร้างแบบจำลองสมการถดถอยพหุคูณ และใช้วิธีกำลังสองน้อยที่สุด (OLS) ในการประมาณค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ ผลการศึกษา พบว่า ทั้งการว่างงานและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ลดลง แต่การว่างงานมีอิทธิพลต่อความไม่เท่าเทียมกันในรายได้มากกว่าเงินเฟ้อ นอกจากนั้น ยังพบว่า การว่างงานและเงินเฟ้อมีผลต่อสัดส่วนคนจนอย่างมีนัยสำคัญ ณ ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 80 การว่างงานและเงินเฟ้อ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะความยากจนเพิ่มขึ้น แต่เงินเฟ้อมีอิทธิพลต่อภาวะความยากจนมากกว่าการว่างงาน และสิ่งสำคัญที่ได้ คือ ไม่มีการ Trade Off กันระหว่างผลของการว่างงานและเงินเฟ้อ ที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และภาวะความยากจน