Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้รัฐตอบสนองในเชิงนโยบายต่อการ เคลื่อนไหวผลักดันของเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทยโดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถผลิต และจำหน่ายสุรากลั่นชุมชนได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีสมมติฐานในการวิจัย คือ การที่กลุ่มเครือข่าย เหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทยสามารถผลักดันให้รัฐเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถผลิตสุรากลั่นชุมชน ได้อย่างถูกกฎหมายนั้นเป็นเพราะโครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นอันเป็นผลพวงมาจาก เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2540 รวมทั้งลักษณะของข้อเรียกร้องมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐ ในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภาพรวม อย่างไรก็ตาม ลักษณะโครงสร้างโอกาสทางการเมืองก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดนโยบายที่เป็นผลดีต่อ ประชาชนระดับรากหญ้าโดยอัตโนมัติ ประชาชนยังจำเป็นต้องรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ต่อรองกับรัฐ ทุนนิยมซึ่งมีแนวโน้มที่จะกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนอยู่เสมอ ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (สมัยที่ 1) ออกนโยบายอนุญาตให้ชาวบ้าน สามารถผลิตและจำหน่ายสุรากลั่นชุมชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเพราะข้อเรียกร้องของ เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทยมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐในการส่งเสริมและ กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) รวมทั้ง แรงจูงใจจากความเชื่อมั่นในแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ผูกติดอยู่กับระบบการค้าเสรี ในการศึกษาครั้งนี้ยัง พบอีกว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นผลพวงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 มิได้ส่งผลให้ชาวบ้านในระดับรากหญ้าได้รับประโยชน์จากกระบวนการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยตรง ตรงกันข้าม ความเป็นเสรีดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่มี ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับผู้มีอำนาจเสมอ จนกระทั่งชาวบ้านได้มีการรวมตัวเคลื่อนไหวต่อสู้และ ต่อรองกับอำนาจรัฐ ความเป็นเสรีประชาธิปไตยเหล่านั้นจึงจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนระดับราก หญ้ามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก็ยังมีประโยชน์ในฐานะ เครื่องมือที่ชาวบ้านจะใช้เป็นหลักอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว