Abstract:
วัตถุประสงค์การศึกษาคือ เพื่อสำรวจและศึกษาวิธีการการบัญชีของธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อที่ปฏิบัติในปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์คุณภาพของงบการเงิน และรายการทางการเงินของธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่องบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องเมื่อนำมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตรมาประยุกต์ เพื่อสำรวจปัญหาด้านการกำหนดมูลค่ายุติธรรม ปัญหาด้านการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน รวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อนำมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตร (IAS 41) ประยุกต์ในธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไข และเพื่อเสนอแนวทางการบัญชีที่เหมาะสมแก่ธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อในประเทศไทย การดำเนินการวิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ข้อมูลปฐมภูมิ และข้อมูลทุติยภูมิ โดยมุ่งศึกษาหลักการบัญชีที่ใช้ในปัจจุบันและหลักการบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 41 เรื่องการบัญชีสำหรับการเกษตรในด้านการรับรู้รายการ การวัดมูลค่า การบันทึกและการจัดประเภทรายการ และการเปิดเผยข้อมูล โดยการวิจัยจะเน้นไปที่การศึกษาปัญหาด้านการวัดมูลค่ายุติธรรม ปัญหาด้านการจัดทำและนำเสนองบการเงิน และปัญหาด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นหากประเทศไทยนำมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าวมาประยุกต์ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบค่าเฉลี่ยระหว่าง 2 ประชากรแบบจับคู่ในการวิเคราะห์ข้อมูล จากผลการศึกษาพบว่า ในปัจจุบันธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อบันทึกบัญชีโดยใช้วิธีบันทึกค่าใช้จ่ายการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นสินทรัพย์และบันทึกค่าใช้จ่ายการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นค่าใช้จ่ายทันที สำหรับการประยุกต์มาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตร (IAS 41) จะส่งผลให้รูปแบบการเสนองบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังพบว่าการประยุกต์มาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าว มีปัญหาด้านการวัดมูลค่ายุติธรรม กล่าวคือไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่ายุติธรรมไว้อย่างชัดเจน ไม่สามารถวัดมูลค่ายุติธรรมของไก่เนื้อที่ยังไม่พร้อมขายได้ ไม่สามารถพิสูจน์การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกายภาพและด้านราคาที่เป็นตัวเงินได้ ตลอดจนปัญหาด้านการจัดทำและนำเสนอในงบการเงิน ประกอบกับผู้ทำบัญชีขาดความเข้าใจในมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าว ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดเก็บข้อมูล และเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน รวมทั้งปัญหาด้านอื่นๆ กรณีถ้ากรมสรรพากรยอมรับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าว จะทำให้กิจการต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สูงมาก ยิ่งไปกว่านั้นไม่มีหน่วยงานใดมารองรับการวัดมูลค่ายุติธรรม โดยสรุปแล้วถ้าคำนึงปัญหาหลายด้านที่เกิดขึ้นและจากการประยุกต์มาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าว การวิจัยฉบับนี้เสนอให้กิจการควรบันทึกสินทรัพย์ชีวภาพและผลิตผลทางการเกษตรด้วยราคาทุนดังที่ปฏิบัติในปัจจุบัน