Abstract:
ประเมินการเจริญเต็มขั้นของ distal radius, distal ulna, distal tibia และdistal fibula ด้านซ้ายจากภาพรังสีในช้างเอเชีย 47 ตัวอย่างที่อายุต่างกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 30 ปี โดยศึกษาจากการพัฒนาของศูนย์เริ่มสร้างกระดูกทุติยภูมิและการวัดขนาด epiphysis, metaphysis และ physis โดยตรงจากภาพรังสี พบว่าในช้างแรกเกิดปรากฏศูนย์เริ่มสร้างกระดูกทุติภูมิของ distal radius, distal ulna และ distal tibia แต่พบปรากฏหลังคลอดเล็กน้อยที่ distal fibula ศูนย์เริ่มสร้างกระดูกทุติยภูมิของทุกกระดูกมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 13 ปี ทั้ง epiphysis และ metaphysis มีการเจริญและขยายความกว้างอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีแรก ทั้งรูปร่างและขนาดของ epiphysis ของช้างหลังอายุ 13 ปีค่อนข้างคงที่ โดยมีความกว้างเท่ากับความกว้างของ metaphysis ระยะห่างระหว่าง epiphysis กับ metaphysis ของ distal radius, distal ulna แคบลงอย่างรวดเร็วในช่วง 6 ปีแรก ส่วนของ distal tibia และ distal fibula แคบลงเร็วในช่วง 10 ปีแรก หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการเชื่อมปิดของ physis โดยที่ distal radius เริ่มเชื่อมปิดจากด้านนอกเข้าด้านใน ในขณะที่ distal ulna และ distal fibula เชื่อมจากด้านในออกสู่ด้านนอก ส่วนที่ distal tibia เริ่มเชื่อมจากบริเวณตรงกลางออกสู่ด้านข้างทั้งสองข้าง ระดับการเจริญเต็มขั้นของกระดูกช้างเอเชีย แบ่งออกได้เป็น 7 เกรด คือ เกรด 0 = ไม่พบศูนย์เริ่มสร้างกระดูกทุติยภูมิ เกรด 1 และ 2 = ศูนย์เริ่มสร้างกระดูกทุติยภูมิมีความกว้างน้อยกว่า 50% และเท่ากับหรือมากกว่า 50% ของความกว้างของ metaphysis ตามลำดับ เกรด 3 = ระยะห่างระหว่าง epiphysis และ metaphysic เริ่มแคบลง เกรด 4 และ 5 = แนว physis เชื่อมปิดน้อยกว่า 50% และเท่ากับหรือมากกว่า 50% ตามลำดับ เกรด 6 = แนว physis เชื่อมปิดอย่างสมบูรณ์ ผลการศึกษาพบว่านับจากช้างแรกเกิดระดับการเจริญเต็มขั้นของ distal radius และ distal ulna แบ่งเป็น 5 เกรด ตั้งแต่เกรด 2 ถึง 6, ของ distal tibia แบ่งเป็น 6 เกรด ตั้งแต่เกรด 1 ถึง 6 และของ distal fibula แบ่งเป็น 7 เกรด ตั้งแต่เกรด 0 ถึง 6 กระดูกปลายขาที่ศึกษาทั้งหมดเจริญเต็มที่เมื่อช้างอายุระหว่าง 26 ถึง 30 ปี ขนาดของ epiphysis, metaphysic และ physis ที่วัดโดยตรงจากภาพรังสีของกระดูกปลายขานำไปใช้ประโยชน์ในการทำนายอายุช้างได้โดยมีความสัมพันธ์กันสูงตามรูปแบบการวิเคราะห์สมการความถดถอย (P<0.001)