Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาถึงความมีประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยในการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ศึกษาประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์ในด้านการสร้างมูลค่า โดยใช้แนวคิดแบบ STOCHASTIC FRONTIER ANALYSIS ในส่วนที่สองคือการศึกษาปัจจัยกำหนดความมีประสิทธิภาพโดยประมาณการโดยแบบจำลอง FIXED EFFECT และใช้ข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 13 ธนาคารระหว่างปี 2540 – 2546 ผลการศึกษาความมีประสิทธิภาพในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อพิจารณาตามขนาดของธนาคารแล้ว กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะมีประสิทธิภาพสูง ยกเว้นธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ในกลุ่มธนาคารขนาดกลางก็จะมีความประสิทธิภาพรองลงมา ส่วนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กนั้นมีความประสิทธิภาพต่ำที่สุด ยกเว้นธนาคารเอเชียที่มีความมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูง สำหรับผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความมีประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์พบว่า ตัวแปรสัดส่วนสินเชื่อ สัดส่วนเงินฝาก และสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ มีความสัมพันธ์ในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อความมีประสิทธิภาพ สำหรับตัวแปรสัดส่วนจำนวนพนักงาน สัดส่วนที่ดินอาคาร สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และตัวแปรขนาดของธนาคาร พบว่ามีความสัมพันธ์ในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อความมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวแปรสัดส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ตัวแปรโครงสร้างเงินทุน ตัวแปรระดับของทุนและตัวแปรกลไลการควบคุมโดยผู้ถือหุ้น พบว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปได้ว่า ธนาคารสามารถเพิ่มความมีประสิทธิภาพให้แก่ตนเองได้โดยการขยายฐานสินเชื่อ แต่ทั้งนี้ต้องทำการควบคุมคุณภาพของสินเชื่อไปพร้อมกัน ในด้านการลงทุนควรหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อลดต้นทุนค่าเสียโอกาส และในการจัดการกับหนี้ด้อยคุณภาพอย่างรวดเร็วก็เป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธนาคารได้