Abstract:
ด้วยเหตุที่มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้บัญญัติรับรองให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลเป็นเด็ดขาด ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ทำให้ไม่มีองค์กรใดๆ สามารถตรวจสอบ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ แม้ในบางกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ชัดเจนและอาจนำไปสู่ปัญหาในด้านเหตุผลของ คำวินิจฉัยได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 266 (คดี นายวีรพล ดวงสูงเนิน) ว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประการใด เพื่อที่จะได้ศึกษาหาแนวทางในการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป ผลการศึกษาพบว่า 1. ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ไว้เกินประเด็นในคำร้องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติ ใดที่กำหนดห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกินคำร้องที่เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านไม่แสดงเหตุผลในบางประเด็นปัญหาในคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ทำให้ผู้ศึกษาไม่ทราบถึงเหตุผลในการวินิจฉัย จึงไม่สามารถวิเคราะห์คำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่าถูกต้องต่อหลักกฎหมายหรือไม่ 3. มาตรา 96 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 บัญญัติไม่ชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตของสิทธิ อุทธรณ์ของผู้ถูกลงโทษและอำนาจขององค์กรผู้รับอุทธรณ์ ก่อให้เกิดปัญหาในการตีความกฎหมาย สำหรับปัญหาการไม่แสดงเหตุผลในคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้เขียนได้เสนอให้มีการแก้ไขข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2541ว่า คำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง สำหรับปัญหาความไม่ชัดเจนของมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ผู้เขียนได้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตของสิทธิอุทธรณ์ของผู้ถูกลงโทษและอำนาจขององค์กรผู้รับอุทธรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา ที่จะเกิดขึ้นจากการตีความกฎหมาย