Abstract:
การดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้ดำเนินงานมาจนครบ 1 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2535 คณะผู้วิจัยต้องการทราบว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างในทัศนะของผู้ให้บริการ ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การให้บริการทางการแพทย็ของสถานพยาบาลคู่สัญญาหลักทั้ง 5 แห่งในจังหวัดสมุทรปราการ ในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนในระยะเวลา 1 ปี (มิถุนายน 2534-พฤษภาคม 2535) โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดหนึ่งของเวลา ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในโครงการประกันสังคมทั้ง 5 กลุ่มในโรงพยาบาลแต่ละแห่งถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ประกันตนที่มาใช้บริการและชนิดของโรคที่พบเก็บข้อมูลโดยการแจงนับจากฝ่ายเวชระเบียน และข้อมูลการจัดเตรียมสถานพยาบาลได้จากการสังเกตโดยตรงโดยทำการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 พฤศจิกายน 2535 ผลการศึกษาพบว่า โรงพยาบาลคู่สัญญาหลัก 5 แห่งที่จัดบริการให้แก่ผู้ประกันตน มีโรงพยาบาลของรัฐ 1 แห่งเท่านั้นที่มีการจัดคลินิกประกันสังคมแก่ผู้ป่วยประกันสังคมโดยเฉพาะ และมีโรงพยาบาล 2 แห่งที่มีเครือข่ายที่สมบูรณ์ในการจัดบริการทางการแพทย์ อัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกของผู้ป่วยประกันสังคมในโรงพยาบาลของรัฐเฉลี่ย 7.2-35.3 ครั้ง/พันคน/เดือน (0.09-0.42 ครั้ง/คน/ปี) อัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ย 42.8-105.8 ครั้ง/พันคน/เดือน (0.51-1.27 ครั้ง/คน/ปี)