Abstract:
การศึกษาเรื่องโครงสร้างทางอำนาจในการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลมีที่มาจากปัญหาสภาพการประกอบอาชีพของผู้ค้าสลากรายย่อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และปัญหาผู้บริโภคต้องซื้อสลากในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้สองประการคือหนึ่งเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลและผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ค้าสลากรายย่อย และสองเพื่อหาแนวทางการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างเป็นธรรม การศึกษานี้ใช้การศึกษาเชิงคุณภาพโดยศึกษาข้อมูบจากเอกสารต่างๆ และการสัมภาษณ์เจาะลึกนักการเมือง ผู้บริหารสำนักงานสลาก ผู้ได้รับโควต้าสลากทั้งส่วนราชการและเอกชน นายทุน องค์กรการกุศล และผู้ค้าสลากรายย่อย รวมทั้งสิ้น 25 คน และมีการศึกษาเชิงปริมาณในกลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อย 249 คน ผลการศึกษาพบว่าโครงสร้างทางอำนาจเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้นักการเมืองแลกเปลี่ยนเชิงอุปถัมภ์กับคณะกรรมการสลากหรือผู้บริหารสำนักงานสลากและยี่ปั๊วรายใหญ่โดยปล่อยปะละเลยต่อผู้บริโภคและผู้ค้าสลากรายย่อย คณะกรรมการสลากหรือผู้บริหารสำนักงานสลากมีการแลกเปลี่ยนเชิงอุปถัมภ์กับยี่ปั๊วโดยเอาเปรียบผู้บริโภคและปล่อยให้ยี่ปั๊วขูดรีดผู้ค้าสลากรายย่อย นอกจากนั้นยังพบอีกว่าโครงสร้างเช่นนี้ทำให้องค์กรพิทักษ์สิทธิคนพิการและองค์กรการกุศลอ่อนแอ ผู้ค้าสลากรายย่อยส่วนมากทำงานแค่พอยังชีพไม่มีระบบสวัสดิการในการทำงาน ขาดความมั่นคงและดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ในขณะที่การดำเนินงานของสำนักงานสลากมีแนวโน้มทำให้ประชาชนเล่นการพนันมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอแนะคือควรกำหนดช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่เพื่อไม่ให้ยี่ปั๊วกำหนดราคาสลากในตลาด กระจายตัวแทนจำหน่ายให้มีจำนวนที่มากขึ้น ส่งเสริมการวมกลุ่มของผู้ค้าสลากรายย่อยเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายในรูปนิติบุคคล มีกลไกการตรวจสอบและบทลงโทษที่ชัดเจนหากมีการจำหน่ายสลากเกินราคา กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสลากใหม่และไม่ให้กรรมการสลากมีส่วนได้เสียในโควต้าสลากหรือเงินสนับสนุนสาธารณะประโยชน์ มีการจัดระบบสวัสดิการสำหรับผู้ค้าสลากรายย่อย และมีการจัดสรรเงินรายได้ส่วนของรัฐเข้ากองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพื่อให้บรรลุตามข้อเสนอแนะเหล่านี้อย่างยั่งยืนควรจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517