Abstract:
อายุของฟันเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนฟัน การจัดฟันในช่วงที่รากฟันยังสร้างไม่สมบูรณ์จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะการละลายรากฟันหรือการเปลี่ยนแปลงรูปร่างรากฟัน แม้ว่าจะมีความพยายามในการศึกษาทางคลินิกเพื่อที่จะศึกษาถึงผลของอายุฟันต่อการสร้างรากฟัน แต่เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงไม่อาจอ้างถึงผลของการเปลี่ยนแปลงที่พบนี้ว่าเกิดจากการเคลื่อนฟัน ในขณะที่การศึกษาในสัตว์ทดลองที่ผ่านมามักจะรายงานผลของอายุต่อการเคลื่อนฟันในแง่ของการวัดระยะทาง หรือวัดอัตราเร็วของการเคลื่อนฟันมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะรูปร่างรากฟัน การวัจัยนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อทดสอบสมมติฐานที่ว่าการให้แรงเคลื่อนฟันในหนูกลุ่มที่การสร้างรากฟันยังไม่สมบูรณ์และในกลุ่มที่มีการสร้างรากฟันสมบูรณ์ จะมีความยาวฟัน และการตอบสนองทางจุลกายวิภาคแตกต่างจากด้านที่ไม่ได้รับแรงหรือไม่ โดยใช้หนูวิสตาร์ 2 กลุ่มอายุ คือกลุ่มที่การสร้างรากฟันยังไม่สมบูรณ์ (อายุ 9 สัปดาห์) จำนวน 8 ตัว และกลุ่มที่การสร้างรากฟันสมบูรณ์ (อายุ 15 สัปดาห์) จำนวน 6 ตัว เปรียบเทียบผลของการเคลื่อนฟันโดยใช้ยางแยกฟันหนา 0.65 มิลลิเมตร ใส่ระหว่างฟันกรามบนด้านขวาซี่แรกและซี่ที่สอง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และใช้ฟันกรามบนด้านซ้ายเป็นด้านควบคุม โดยตัดแยกขากรรไกรในกลุ่มแรก เมื่อหนูมีอายุ 15 สัปดาห์ (ภายหลังจากหยุดการเคลื่อนฟัน 4 สัปดาห์) และอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อหนูมีอายุ 17 สัปดาห์ แล้วจึงประเมินผลจากการวัดความยาวฟันในภาพรังสีด้วยโปรแกรมประเมินผลภาพ โดยวัดจากยอดปุ่มฟันด้านใกล้แก้มไกลกลางไปยังส่วนปลายสุดของรากฟัน ร่วมกับการบรรยายลักษณะทางจุลกายวิภาค โดยแผ่นชิ้นเนื้อถูกตัดในแนวตั้ง และย้อมด้วยสีฮีมาทอกซิลินและอิโอซิน (เอชแอนด์อี) เพื่อศึกษารูปร่างของเซลล์และย้อมด้วยตาร์เตรต รีซีสแตนส์ แอซิด ฟอสฟาเตส (แทรพ) เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการละลาย ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มที่ได้รับแรงเมื่อการสร้างรากฟันยังไม่สมบูรณ์ มีค่าความยาวฟันเฉลี่ยในด้านควบคุมและด้านทดลองเท่ากับ 3.61±0.01 มิลลิเมตร และ 3.50±0.02 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่วนในกลุ่มที่ได้รับแรงเมื่อมีการสร้างรากฟันสมบูรณ์ มีค่าความยาวฟันเฉลี่ยในด้านควบคุมและด้านทดลองเท่ากับ 3.63±0.03 มิลลิเมตร และ 3.46±0.04 มิลลิเมตร ตามลำดับ ในกลุ่มที่รากฟันยังสร้างไม่สมบูรณ์มีความยาวฟันในด้านทดลองสั้นกว่าด้านควบคุมร้อยละ 2.92 ในขณะที่กลุ่มที่มีการสร้างรากฟันสมบูรณ์มีความยาวฟันในด้านทดลองสั้นกว่าด้านควบคุมร้อยละ 4.84 จากลักษณะทางจุลกายวิภาคทั้ง 2 กลุ่มพบว่ามีการละลายรากฟันซึ่งเกิดจากการได้รับแรงเคลื่อนฟันที่ตำแหน่งเดียวกันคือที่บริเวณง่ามรากฟันและด้านไกลกลางของบริเวณ 1/3 ทางด้านปลายรากฟัน ลักษณะแอ่งเว้าที่พบในกลุ่มแรกอยู่ในระหว่างการซ่อมสร้าง จึงปรากฏเป็นชั้นพรีซีเมนตัมคลุมบนแอ่งเว้าที่ปลายรากฟัน ในขณะที่กลุ่มที่มีการสร้างรากฟันสมบูรณ์มีการละลายที่รุนแรงกว่า โดยพบแอ่งเว้ามีขนาดใหญ่และลึกถึงชั้นเนื้อฟัน พบเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการละลายอยู่บริเวณขอบผิวรากฟันดังกล่าว จากการศึกษานี้อาจสรุปได้ว่า การเคลื่อนที่ฟันทางทันตกรรมจัดฟันมีผลต่อการสร้างรากฟันกล่าวคือ ฟันที่มีการสร้างรากฟันยังไม่สมบูรณ์สามารถเจริญต่อไปจนปลายรากปิด แต่มีความยาวฟันสั้นลงกว่าปกติ และ มีร่องรอยของการละลายรากฟันภายหลังจากหยุดการเคลื่อนฟัน