Abstract:
การสุ่มตรวจซีรั่มด้วยวิธี ELISA ชนิดจำเพาะต่อ glycoprotein Gs (gGs) ของเชื้อ EHV-1 และ EHV-4 เพื่อค้นหาแอนติบอดี้ที่จำเพาะต่อเชื้อ EHV-1 และ EHV-4 จากแม่ม้าจำนวน 500 ตัว จำแนกเป็นพันธุ์โทโรเบรด 53 ตัว และพันธุ์ผสม 447 ตัว จากจังหวัด นครราชสีมา กาญจนบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ร้อยเอ็ดและอุดรธานี รวมทั้งหมด 8 จังหวัด พบว่ามีแม่ม้าให้ผลบวกจำนวน 96 ตัว หรือคิดเป็น 19.2% (96/500) จำแนกผลการทดสอบที่ให้ผลบวกต่อเชื้อ EHV-1 ตามลักษณะอาการทางคลินิกพบว่า แม่ม้าที่มีประวัติการแท้งลูกให้ผลทดสอบบวก 19 ตัว หรือคิดเป็น 19.79% (19/96) แม่ม้าที่มีประวัติเดินขากะเผลกให้ผลทดสอบบวก 10 ตัว หรือคิดเป็น 10.41% (10/96) แม่ม้าที่มีประวัติแสดงอาการทั้งสองอย่างให้ผลทดสอบบวก 1 ตัว หรือคิดเป็น 1.04% (1/96) และแม่ม้าที่ไม่มีประวัติหรือไม่มีอาการแสดงให้ผลทดสอบบวก 66 ตัว หรือคิดเป็น 68.75% (66/96) จากตัวอย่างซีรั่มแม่ม้าจำนวน 500 ตัวที่สุ่มตรวจ มีประวัติแท้งลูก จำนวน 40 ตัว เดินขากะเผลก จำนวน 15 ตัว มีอาการแสดงทั้งสองอย่าง จำนวน 2 ตัว และไม่มีอาการแสดง จำนวน 413 ตัว และพบว่ามีแม่ม้าแท้ง จำนวน 19 ตัว ให้ผลบวกต่อเชื้อ EHV-1 คิดเป็น 47.5% (19/40) แม่ม้าเดินขากะเผลกให้ผลบวก จำนวน 10 ตัว คิดเป็น 66.7% (10/15) แม่ม้าแสดงอาการทั้งสองอย่างให้ผลบวก จำนวน 1 ตัว คิดเป็น 50% (1/2) และแม่ม้าไม่มีอาการแสดงให้ผลบวก จำนวน 66 ตัว คิดเป็น 14.9% (66/443) ขณะเดียวกันแม่ม้าทุกตัวให้ผลบวก 100% ต่อเชื้อ EHV-4 ทำการเก็บตัวอย่างซากลูกม้าแท้ง 3 ราย ศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาและเพาะแยกเชื้อไวรัส พบว่ามีลูกม้าแท้งเพียง 1 รายที่พบลักษณะรอยโรค eosinophilic intranuclear inclusion bodies ในเซลล์เยื่อบุผิวหลอดลมและเซลล์ตับ และสามารถแยกเชื้อไวรัสได้จากลูกม้าแท้งในเซลล์เพาะเลี้ยงทั้ง 3 ราย รวมทั้งการยืนยันด้วยการตรวจพบแอนติเจนของเชื้อ EHV-1 โดยวิธีอิมมูนโนฮีสโตเคมี อย่างไรก็ตามการที่มีเชื้อ EHV-1 แฝงตัวอยู่แม่ม้าสามารถกลับมาติดเชื้อใหม่ได้ หากเกิดภาวะเครียด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ EHV-1 จากการสำรวจซีรั่มวิทยาแสดงให้เห็นว่ามีการติดเชื้อ EHV-1 วนเวียนอยู่ในหมู่ประชากรแม่ม้าหรือมีโรค EHV-1 ในประเทศไทยและก่อให้เกิดปัญหาการแท้งลูกในการเพาะพันธุ์ม้า แม้ว่าจะพบตัวที่ติดเชื้อและเกิดการแท้งเพียงเล็กน้อย