Abstract:
การวิจัยเรื่องผลกระทบของกระบวนการขัดเกลาทางสังคมต่อการเป็นภรรยาน้อย : ศึกษากรณีสตรีในภาคกลางของประเทศไทยนี้ มีวัตถุประสงค์หลักคือ การศึกษากระบวนการขัดเกลาทางสังคม ที่ทำให้ผู้หญิงเป็นภรรยาน้อย ศึกษาภูมิหลัง และวิถีชีวิตของผู้หญิงที่เป็นภรรยาน้อยศึกษาผลกระทบของการเป็นภรรยาน้อย ศึกษาปัญหาต่าง ๆ ของผู้หญิงที่เป็นภรรยาน้อยและเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของผู้หญิงที่เป็นภรรยาน้อย การวิจัยดังกล่าวใช้กรอบแนวคิด การขัดเกลาทางสังคม กลุ่มปฐมภูมิ ครอบครัว ความนับถือตนเอง ค่านิยมและใช้ทฤษฎีดังต่อไปนี้คือ ความใกล้ชิด การทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป การแลกเปลี่ยนทางสังคม จิตวิเคราะห์ และพัฒนาการทางจริยธรรม ส่วนระเบียบวิธีวิจัยใช้การวิจัยสนามทางมานุษยวิทยาเป็นหลัก และใช้เทคนิควิจัยสำคัญคือ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้หญิงที่เป็นภรรยาน้อยในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 7 คน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 คน และจังหวัดกาญจนบุรี 1 คน รวมทั้งสิ้น 9 คน การวิจัยครั้งนี้มีสมมติฐานทั้งหมด 7 ข้อ ดังต่อไปนี้คือ: ข้อที่ 1 การเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างประคบประหงมมีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย ข้อที่ 2 การขาดความรักความอบอุ่นจากครอบครัวมีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย ข้อที่3 การทำงานใกล้ชิดกับผู่ชายที่มีภรรยาแล้วมีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย ข้อที่ 4 ปัญหาด้านเศรษฐกิจมีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย ข้อที่ 5 การมีค่านิยมต้องการมีสามีเพียงคนเดียวมีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย ข้อที่ 6 การขาดความนับถือตนเองมีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย และ ข้อที่ 7 ความหย่อนยานทางจริยธรรมมีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย ผลวิจัยพบว่ามีสมมติฐาน 4 ข้อที่ได้รับการยอมรับคือ ข้อที่ 2, 3, 5 และ 7 นั่นคือการขาดความรักความอบอุ่นจากครอบครัว การทำงานใกล้ชิดกับผู้ชายที่มีภรรยาแล้ว การมีค่านิยมต้องการมีสามีเพียวคนเดียว และมีการความหย่อนยานทางจริยธรรม มีผลต่อการเป็นภรรยาน้อย งานวิจัยเรื่องนี้ยังได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของผู้หญิงที่เป็นภรรยาน้อยอีกด้วย