Abstract:
การทดลองที่ 1 เพื่อศึกษาความไวต่อเชื้อ Plasmodium gallinaceum ในไก่เนื้ออายุต่างๆ จำนวน 180 ตัว โดยแบ่งไก่ออกเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 10 20 และ 30 วัน กลุ่มอายุละ 60 ตัว ในแต่ละกลุ่มอายุแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย กลุ่มย่อยละ 10 ตัว ซึ่งได้รับเชื้อ P. gallinaceum โดยฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำปริมาณ 0 1.0X10(1) 1.0X10(2) 1.0X10(3) 1.0X10(4) และ 1.0X10(5) ตามลำดับ ผลปรากฏว่าไก่ทุกกลุ่มอายุที่ได้รับเชื้อปริมาณ 1.0X10(5) มีอัตราการติดเชื้อสูงสุด และเกิดภาวะโลหิตจากแตกต่างกันหลายระดับ การทดลองที่ 2 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยาต้านเชื้อมาลาเรีย 5 อย่าง คือ อาทิซูเนต คลอโรควิน ด๊อกซีไซคลิน ไพรมาควิน และ อาทิซูเนตร่วมกับไพรมาควิน โดยใช้ไก่เนื้ออายุ 23 วัน จำนวน 147 ตัว แบ่งเป็นกลุ่มละ 21 ตัว จำนวน 7 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมที่ไม่ติดเชื้อและไม่ได้ให้การรักษาจำนวน 1 กลุ่ม กลุ่มควบคุมที่ติดเชื้อและไม่ได้ให้การรักษาจำนวน 1 กลุ่ม และกลุ่มที่ติดเชื้อและให้การรักษาด้วยยาอาทิซูเนต คลอโรควิน ด็อกซีไซคลิน ไพรมาควิน และ อาทิซูเนต ร่วมกับไพรมาควิน จำนวน 5 กลุ่ม ตามลำดับ ผลปรากฏว่ายาคลอโรควินและด๊อกซีไซคลินมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการรักษาการติดเชื้อ P. gallinaceum ระยะที่ไม่มีเพศในเม็ดเลือดแดงของไก่เนื้อ แต่ไม่มียาชนิดใดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการรักษาการติดเชื้อระยะที่มีเพศในเม็ดเลือดแดง ส่วนเชื้อ P. gallinaceum ระยะที่ไม่มีเพศในเนื้อเยื่อของไก่ติดเชื้อทุกกลุ่มที่ได้รับยารักษามีจำนวนลดลงกว่าของไก่กลุ่มติดเชื้อที่ไม่ได้รับยา ไก่ติดเชื้อทุกกลุ่มที่ให้ยาต้านมาลาเรียมีอัตราการตายต่ำกว่ากลุ่มติดเชื้อที่ไม่ได้ให้ยาอย่างมีนัยสำคัญ (P<=0.05) คำสำคัญ ; ไก่เนื้อ มาลาเรียไก่ พลาสโมเดียม กัลลินาเซียม ยาต้านเชื้อมาลาเรีย