Abstract:
ศึกษาอัตราการติดเชื้อและระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ พลาสโมเดียม กัลลินาเซียม ด้วยวิธี IFA (Immuno fluorescence Assay) วิธี ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay) และการวิเคราะห์โปรตีนแอนติเจนของเชื้อด้วยวิธี Western blot โดยใช้ไก่เนื้อ จำนวน 120 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 10, 20 และ 30 วัน กลุ่มอายุละ 40 ตัว ในแต่ละกลุ่มอายุแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ในการทดลองทำการฉีดเชื้อเข้าเส้นเลือดดำที่ปีก ปริมาณ 0, 10, 10[superscript 3] และ 10[superscript 6] เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อ (infected rbc) ตามลำดับ และติดตามผลการทดลองโดยการตรวจหาเชื้อในกระแสเลือดทุกๆ 3 วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองผลปรากฏว่าไก่ที่ได้รับเชื้อทั้งหมดมีอัตราการติดเชื้อ 66.67% โดยไก่กลุ่มอายุ 10 วันและ 20 วัน ทุกกลุ่มย่อยที่ได้รับเชื้อ มีอัตราการติดเชื้อ 100% เท่ากัน และไก่กลุ่มอายุ 10 วัน ซึ่งได้รับเชื้อปริมาณ 10[superscript 6] เซลล์ มีความไวสูงสุด เริ่มตรวจพบเชื้อในกระแสเลือดได้ในวันที่ 3 หลังการฉีดเชื้อ และมีค่าเฉลี่ยของระดับเชื้อสูงสุดในวันที่ 12 และเป็นกลุ่มที่ไก่ตายสูงสุด 90% สำหรับไก่กลุ่มอายุ 30 วัน ทุกกลุ่มย่อยไม่พบเชื้อตลอดการทดลอง การทดสอบหาระดับแอนติบอดีในซีรั่มของไก่ทดลองทุกกลุ่มต่อเชื้อ พลาสโมเดียม กัลลินาเซียม ด้วยวิธี IFA และ วิธี ELISA ผลปรากฏว่าซีรั่มไก่ทุกอายุให้ผลบวกจากการทดสอบ 100 และ 56.67% ตามลำดับ การทดสอบด้วยวิธี IFA ในซีรั่มไก่กลุ่มอายุ 10 และ 20 วัน ทุกกลุ่มย่อยที่ได้รับเชื้อมีระดับแอนติบอดีต่อเชื้อสูง 100% ไก่อายุ 10 วัน กลุ่มย่อยที่ได้รับเชื้อ 10[superscript 3] infected rbc เริ่มตรวจพบระดับแอนติบอดีได้เร็วที่สุดในวันที่ 3 หลังการฉีดเชื้อ และพบระดับแอนติบอดีต่อเชื้อในซีรั่มไก่ 100% ในวันที่ 6 และจนกระทั่งสิ้นสุดการทดลอง ที่ระดับแอนติบอดี 1/15625 ส่วนไก่กลุ่มควบคุมให้ผลแปรปรวนเล็กน้อยตลอดการทดลอง สำหรับผลการทดสอบด้วยวิธี ELISA ซีรั่มของไก่กลุ่มอายุ 10 วัน ทุกกลุ่มย่อยให้ผลบวก 70 และ 100% ในวันที่ 12 และ 15 ของการทดลอง โดยมีค่าเฉลี่ย OD ระหว่าง 0.308-0.410 ซีรั่มของไก่กลุ่มอายุ 20 วัน ทุกกลุ่มย่อยให้ผลบวกน้อยว่ากลุ่มอายุ 10 วันยกเว้นกลุ่มย่อยที่ได้รับเชื้อ 10 infected rbc ขณะที่ไก่กลุ่มอายุ 30 วัน ให้ผลบวกน้อยและแปรปรวนมาก ส่วนกลุ่มควบคุมทุกอายุส่วนใหญ่ให้ผลลบต่อการทดสอบ ผลการทดสอบในซีรั่มไก่ที่เก็บมาจากแหล่งที่มีการระบาด จำนวน 67 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่าการทดสอบด้วยวิธี IFA และ ELISA ไก่มีระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ 94.03 และ 55.2% ตามลำดับ เมื่อนำผลการทดสอบด้วยวิธี IFA และ ELISA วิเคราะห์และเปรียบเทียบกับการตรวจเชื้อในกระแสเลือดของไก่ทดลอง พบว่าวิธี IFA มีความไว 56.45% และความจำเพาะ 100% ส่วนวิธี ELISA มีความไว 78.37% และมีความจำเพาะ 83.33% ทำการแยก crude P. gallinaceum antigen ด้วยวิธี SDS-PAGE และนำมาวิเคราะห์หาความจำเพาะของโปรตีนแอนติเจนของเชื้อ ด้วยวิธี Western blot โดยใช้ซีรั่มของไก่ที่ติดเชื้อและมีระดับแอนติบอดีสูง ผลปรากฏว่าพบแถบโปรตีนแอนติเจนที่ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีชัดเจน ที่น้ำหนักโมเลกุล 186, 169.8, 106.6, 101.1, 78.5, 74.1, 57.2, 53.7, 48.7, 46.7, 41, 37.7, 31.7, 21.3 และ 20 kDa เมื่อเปรียบเทียบกับผลของปฏิกิริยาที่เกิดจากซีรั่มของไก่ที่ไม่ติดเชื้อและที่ติดเชื้ออื่นๆ พบว่าแถบโปรตีนแอนติเจนที่มีความจำเพาะต่อแอนติบอดีของเชื้อ พลาสโมเดียม กัลลินาเซียม มีน้ำหนักโมเลกุล 106.6, 101.1, 53.7, 48.7, 41 และ 37.7 kDa