Abstract:
ไฮเดรทเต็ทโซเดียมแคลเซียมอลูมิโนซิลิเกต (HSCAS) เป็นสารที่มีความจำเพาะเจาะจงสูง ในการดูดซับสารพิษเชื้อราอะฟลาท็อกซิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะฟลาท็อกซินบี1 (AFB1) จึงนำมาใช้ผสมในอาหารสัตว์เพื่อป้องกันการดูดซึม AFB1 เข้าสู่ร่างกาย และยังนำ HSCAS มาประยุกต์ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณ AFB1 อีกด้วย อะฟลาท็อกซินเอ็ม1 (AFM1) เป็นสารเมทะโบไลท์ที่มีพิษของ AFB1 พบมากในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สำคัญคือน้ำนมโคเพราะเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ จึงต้องมีการเฝ้าระวังตรวจสอบการปนเปื้อนของ AFM1 ในน้ำนมโคอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันวิธีการตรวจสอบ AFM1 ยังต้องใช้ชุดตรวจสอบที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง การพัฒนาชุดตรวจสอบขึ้นใช้เองภายในประเทศ จะเป็นประโยชน์ทั้งในการเฝ้าระวังและลดค่าใช้จ่าย วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้คือ ต้องการศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับ AFM1 ของ HSCAS และศึกษาการสกัดแยก AFM1 ออกจากการดูดซับของ HSCAS เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาชุดตรวจสอบสำหรับการสกัดแยก AFM1 ขึ้นใช้ในประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองระยะ โดยผลการศึกษาระยะที่ 1 พบว่าที่ระดับความเข้มข้น 10 พีพีบี (ppb) ของ AFM1 ในน้ำกลั่นปราศจากไอออน ปริมาณของ HSCAS ที่ 0.5 กรัม สามารถดูดซับ AFM1 ได้ประมาณ 90% ปริมาณ HSCAS ที่ 1.0-2.8 กรัม ดูดซับ AFM1 ได้มากกว่า 96% และที่ปริมาตร 3.0-3.4 กรัม สามารถดูดซับได้ถึง 100% และความสามารถของ HSCAS ในการดูดซับ AFM1 ที่ความเข้มข้น 0.5 ppb ในน้ำนมดิบพบว่าปริมาตรของ HSCAS ที่ 0.5-0.75 กรัม สามารถดูดซับ AFM1 ได้ประมาณ 95% ปริมาณ HSCAS ที่ 1.0-2.0 กรัม ดูดซับได้ 98% และปริมาณของ HSCAS ที่ 3.0-4.0 กรัม สามารถดูดซับ 100% และที่ระดับปริมาณของ HSCAS ที่ 2.8 และ 3.0 กรัมในน้ำกลั่นปราศจากไอออน และที่ปริมาณ 2.0 และ 3.0 กรัมในน้ำนมดิบ พบว่ามีความแตกต่างกันในการดูดซับ AFM1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< 0.05) เมื่อการดูดซับ AFM1 เกิดขึ้น 100% พบว่าอัตราส่วนการดูดซับ AFM1 ต่อน้ำหนักของ HSCAS ในน้ำกลั่นปราศจากไอออนเท่ากับ33.33 ng/g และในน้ำนมดิบเท่ากับ 8.33 ng/g ส่วนผลการศึกษาในระยะที่ 2 พบว่ามีเพียงตัวทำละลายผสมที่มีส่วนผสมของ H2O:Methanol:Acetonitrile ในอัตราส่วน 57:23:20 เพียงชนิดเดียวที่มีความสามารถในการสกัดแยก AFM1 ออกจากการดูดซับของ HSCAS โดยในการศึกษาครั้งนี้พบว่าที่อุณหภูมิ 40ํC ระยะเวลาที่ใช้ในการสกัดแยกนาน 15 นาที เป็นสภาวะที่ให้ %recovery ที่ดีที่สุด อัตราส่วนของตัวทำละลายผสม : HSCAS ที่ 5:1 จะให้ %recovery ที่สูงที่สุดสำหรับการศึกษาครั้งนี้คือ 32.00% รองลงมาคือ 21.73% และ 14.80% ซึ่งเป็น %recovery ของตัวทำละลายผสม : HSCAS ที่ 4:1 และ 3:1 ตามลำดับ การศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า HSCAS มีความสามารถในการดูดซับ AFM1 ที่ปนเปื้อนในน้ำนมดิบได้ และตัวทำละลายผสมซึ่งประกอบด้วย H2O:Methanol:Acetonitrile ในอัตราส่วน 57:23:20 มีความสามารถในการสกัดแยก AFM1 ออกจากการดูดซับของ HSCAS ได้