Abstract:
ข้อมูลทางด้านการสืบพันธุ์และข้อมูลการทดสอบพันธุ์ ของแม่สุกรพันธุ์แท้ที่ถูกคัดทิ้งแต่ปี 2534-2544 จำนวน 2,224 แม่ (16,621 บันทึก) จาก 2 ฟาร์ม โดยฟาร์มที่ 1 เป็นของหน่วยงานราชการ และฟาร์มที่ 2 เป็นฟาร์มของเอกชน ซึ่งประกอบด้วยแม่สุกรพันธุ์ดูรอค พันธุ์แลนด์เรซ พันธุ์ลาร์จไวท์และพันธุ์ยอร์คเชียร์ นำมาศึกษาหาค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมได้แก่ ค่าอัตราพันธุกรรม ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรม และค่าสหสัมพันธ์ทางลักษณะปรากฏ ของลักษณะอายุการใช้งานที่แท้จริง (TL) ลักษณะอายุการใช้งานที่ให้ผลผลิต (FT) ลักษณะจำนวนลูกคลอดทั้งหมดตลอดชั่วอายุ (LTB) ลักษณะจำนวนลูกคลอดมีชีวิตตลอดชั่วอายุ (LBA) และลักษณะจำนวนลูกหย่านมตลอดชั่วอายุ (LNW) วิเคราะห์ความแปรปรวนด้วยวิธี Restricted Maximum Likelihood (REML) ผลการศึกษาพบว่า ค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะอายุการใช้งานที่แท้จริง (TL) มีค่าเท่ากับลักษณะอายุการใช้งานที่ให้ผลผลิต (FL) โดยมีค่าเท่ากับ 0.03 และ0.04 สำหรับฟาร์มที่1 และฟาร์มที่ 2 ตามลำดับ ค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะ LTB, LBA และลักษณะ LNW เมื่อวิเคราะห์รวมทุกพันธุ์มีค่าเท่ากับ 0.16 , 0.20 ,0.13 และ 0.17, 0.18 และ 0.12 ในฟาร์มที่ 1 และฟาร์มที่ 2 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างลักษณะอายุการใช้งาน และผลผลิตตลอดชั่วอายุมีค่าอยู่ระหว่าง 0.37 ถึง 0.65 และ -0.14 ถึง 0.25 สำหรับฟาร์มที่ 1 และฟาร์มที่ 2 ค่าสหสัมพันธ์ทางลักษณะปรากฏระหว่างลักษณะอายุการใช้งาน และผลผลิตตลอดชั่วอายุพบว่า มีค่าต่ำอยู่ระหว่าง -0.04 ถึง 0.05 และ 0.07 ถึง 0.10 ในฟาร์มที่ 1 และฟาร์มที่ 2 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรม และค่าสหสัมพันธ์ทางลักษณะปรากฏระหว่างลักษณะ LTB, LBA และ LNW พบว่ามีค่าค่อนข้างสูง โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 0.65 ถึง 0.98 และ 0.50 ถึง 0.90 ในฟาร์มที่ 1 และฟาร์มที่ 2 ตามลำดับ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การคัดเลือกและปรับปรุงให้แม่สุกรมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น โดยตรงนั้นอาจเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก เนื่องจากมีค่าการถ่ายทอดทางพันธุกรรมต่ำการคัดเลือกโดยทางอ้อมเช่นคัดเลือกให้พ่อแม่สุกรมีลักษณะภายนอก (ขา กีบเท้า เต้านม) ที่เหมาะสมร่วมกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม อาจทำให้สามารถเพิ่มอายุการงานของแม่สุกรขึ้นได้