Abstract:
ศึกษาผลของระยะหย่านมถึงเป็นสัด (Weaning-to-oestrus interval; WOI) และลำดับครอกต่อลักษณะการเป็นสัดและเวลาตกไข่ในแม่สุกรพันธุ์ผสม (ลาร์จไวท์ X แลนด์เรซ) จำนวน 150 ตัวโดยแบ่งเป็นลำดับครอกที่ 1, 2 และ 3-4 จำนวน 78, 22 และ 50 ตัว ตามลำดับ ภายหลังหย่านมตรวจหาระยะโปรเอสทรัสและระยะเป็นสัดยืนนิ่งทุก 8 ซม. ด้วยการสังเกตการบวมแดงของอวัยวะเพศภายนอกร่วมกับการกดหลัง ตรวจหาเวลาตกไข่โดยวิธีอัลตราซาวด์ตรวจผ่านทางทวารหนักทุก 8 ชม. พบว่าลำดับครอกที่ 1, 2 และ 3-4 มีระยะเวลาเป็นสัดเฉลี่ย (Lsmeans) 59.5, 60.1 และ 66.4 ชม. ตามลำดับ แม่สุกรในลำดับครอกที่ 1 และ 2 มีระยะเวลาเป็นสัดสั้นกว่าระยะเวลาเป็นสัดของแม่สุกรในลำดับครอกที่ 3-4 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01 และ <0.05 ตามลำดับ) แม่สุกรลำดับครอกที่ 1, 2 และ 3-4 มีค่าเฉลี่ยระยะเวลาโปรเอสทรัสเท่ากับ 32.3, 31.0 และ 29.1 ชม. และเวลาตกไข่เฉลี่ย 44.0, 42.1 และ 46.1 ชม. ตามลำดับ ลำดับครอกไม่มีอิทธิพลต่อระยะเวลาโปรเอสทรัสและเวลาตกไข่ ไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาโปรเอสทรัสของแม่สุกรที่มี WOI<3 วัน, 4 และ 5 วัน แม่สุกรที่มี WOI<3 วัน, 4 และ 5 วันมีระยะเวลาเป็นสัดเฉลี่ยเท่ากับ 67.4, 58.5 และ 58.0 ชม. และเวลาตกไข่เฉลี่ย 48.5, 41.5 และ 4.09 ชม. ตามลำดับ แม่สุกรที่มี WOI<3 วันมีระยะเวลาเป็นสัดและเวลาตกไข่ยาวนานกว่าแม่สุกรที่มี WOI 4 และ 5 วันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001 และ <0.05 ตามลำดับ) WOI มีความสัมพันธ์ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับระยะเวลาเป็นสัด (p<0.01, r=-0.30) และเวลาตกไข่ (p<0.001, r=0.30) ระยะเวลาโปรเอสทรัสมีความสัมพันธ์ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญกับระยะเวลาเป็นสัด (p<0.05, r=-0.21) และเวลาตกไข่ (p<0.05, r=-0.20) ระยะเวลาเป็นสัดมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกสูงอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับเวลาตกไข่ (p<0.001, r=0.81) แต่มีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับเวลาตกไข่สัมพัทธ์ (p<0.01, r=-0.26) การตกไข่เกิดขึ้นเฉลี่ยที่ 72.3+-8.3% ของระยะเวลาเป็นสัด การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าสามารถใช้ WOI,ลำดับครอกและระยะเวลาเป็นสัดทำนายเวลาตกไข่ได้