Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้วิธีการคำนวณกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานกับ วิธีทางตรงหรือวิธีทางอ้อม 2) เพื่อศึกษาประโยชน์ที่ได้รับจากการจำทำงบกระแสเงินสด 3) เพื่อศึกษาการใช้เทคนิคการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด 4) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำงบกระแสเงินสด แบบวิธีวิจัยของการศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา และการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์กับกลุ่มตัวอย่างคือบริษัทจำกัดในเขตกรุงเทพมหานครที่มีทุนจะทะเบียนระหว่าง 10 – 50 ล้านบาท จำนวน 378 บริษัทและได้รับตอบกลับจำนวน 121 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 32.01 และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบค่าสัดส่วนของประชากร โดยใช้ Z-test การวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติค การทดสอบค่าเฉลี่ยของสองประชากร และการประมาณค่าสัดส่วนแบบช่วงประชากร จากผลการศึกษาพบว่า บริษัทจำกัดในเขตกรุงเทพมหานครมีการจัดทำงบกระแสเงินสดน้อยกว่า 50% สำหรับบริษัทที่มีการจัดทำงบกระแสเงินสดส่วนใหญ่จัดทำงบกระแสเงินสดวิธีทางตรง เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีระบบคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชีที่ช่วยในการจัดทำงบกระแสเงินสด ตลอดจนมีการจ้างสำนักงานบัญชีในการจัดทำงบกระแสเงินสด ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้วิธีทางตรงหรือวิธีทางอ้อมในการคำนวณกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน คือ ปัจจัยต้นทุนการจัดทำ ปัจจัยระยะเวลาในการจัดทำ และปัจจัยความยากง่ายในการจัดทำ ประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการจัดทำงบกระแสเงินสด คือ เพื่อใช้ในการพยากรณ์กระแสเงินสดในอนาคต ทั้งนี้หากกิจการมีการนำเทคนิคการวิเคราะห์วิธีต่างๆ ไปใช้ในการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดเพื่อใช้ในการตัดสินใจจะทำให้ได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งวิธีวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ใช้ คือ วิธีการวิเคราะห์แบบภาพรวม โดยในการจัดทำงบกระแสเงินสดส่วนใหญ่มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของความรู้ความเข้าใจในการจัดทำงบกระแสเงินสด ทำให้บริษัทต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือในเรื่องของการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในวิธีการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดและการจัดทำงบกระแสเงินสด