Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการเป็นยาคลายกังวลของยาไดอะซีแปม และยามีดาโซแลมชนิดรับประทานต่อพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคออทิสซึ่มระหว่างการรักษาทางทันตกรรม โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 13 คน อายุระหว่าง 5.8 – 14.7 ปี แบบเปรียบเทียบผลของยาสองชนิดในคนๆเดียวกัน แบ่งการรักษาเป็นสองครั้ง และสุ่มตัวอย่างแบบง่ายให้ผู้ป่วยเพื่อรับประทานยาชนิดหนึ่งชนิดใดในครั้งแรก และยาอีกชนิดในครั้งที่สอง ขนาดยาไดอะซีแปมที่ใช้คือ 0.3 มก./กก.(น้ำหนักตัว) และยามีดาโซแลม คือ 0.5 มก./กก.(น้ำหนักตัว) ทั้งสองเป็นชนิดรับประมาน ร่วมกับการสูดดมก๊าซไนทรัสออกไซด์ / ออกซิเจน ทำการรักษาทางทันตกรรมโดยทันตแพทย์คนเดียว และประเมินผลพฤติกรรมการหลับ การขยับร่างกาย และการร้องไห้โดยทันตแพทย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีความแม่นยำในการประเมินร้อยละ 87.88 ทำการประเมินทั้งสิ้น 60 นาที ผลของยามีดาโซแลมต่อพฤติกรรมการหลับนั้นดีกว่าและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากผลของยาไดอะซีแปม ในช่วงใส่ผ้าห่อตัว, ฉีดยาชา, ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย และช่วงนาทีที่ 20 (p<0.05) ส่วนผลต่อพฤติกรรมการขยับร่างกาย และการร้องไห้นั้นยามีดาโซแลมก็ให้ผลคะแนนที่ดีกว่า และแตกต่างจากผลของยาไดอะซีแปมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มการรักษาจนถึงช่วงนาทีที่ 35 และ 40 ตามลำดับ (p<0.05) และช่วงเวลาที่เหลือจากนั้นไม่พบความแตกต่างของยาทั้งสองอย่างมีรัยสำคัญทางสถิติ สำหรับลักษณะพฤติกรรมโดยรวมระหว่างการรักษา ได้กำหมดเกณฑ์ไว้ว่ายาต้องมสามารถผู้ป่วยที่ได้รับจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีพฤติกรรมอยู่ในกลุ่มที่ “ดี” และ “ดีมาก” จึงจะแสดงว่ายานั้นมีประสิทธิภาพในการเป็นยาคลายกังวล ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาไดอะซีแปมนั้น จัดอยู่ในกลุ่มพฤติกรรมดี ร้อยละ 23.08 และดีมาก ร้อยละ 53.85 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยามีดาโซแลมนั้นมีลักษณะอยู่ในพฤติกรรมกลุ่มดี ร้อยละ 23.08 และ ดีมาก ร้อยละ 76.92 ซึ่งแสดงว่ายาทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการเป็นยาคลายกังวล แต่เมื่อทดสอบทางสถิติแล้วพบว่ายามีดาโซแลมมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาไดอะซีแปมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( chi-square = 0.012,df = 1 ) ทั้งนี้ไม่พบว่าผู้ป่วยรายใดที่เกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับยาทั้งสองชนิด