Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจหาการแสดงลักษณะของการเป็นสัดแรกหลังคลอดรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของลักษณะรังไข่ และระดับฮอร์โมนเอสตร้าไดอัล-17 เบต้า ในแม่ม้าหลังคลอด โดยศึกษาในแม่ม้าลูกผสมพันธุ์พื้นเมืองของไทย จำนวน 30 ตัว แม่ม้าทุกตัวจะได้รับการตรวจการเป็นสัดทุกวัน และตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของฟอลลิเคิลบนรังไข่โดยการล้วงตรวจร่วมกับการใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางทวารหนัก วันเว้นวัน ตั้งแต่วันที่ 5 หลังคลอดจนกระทั่งแสดงอาการเป็นสัด แล้วจึงเปลี่ยนเป็นทำการตรวจทุกวันจนกระทั่งมีการตกไข่ ยกเว้นแม่ม้าที่ไม่แสดงอาการเป็นสัดจะทำการตรวจวันเว้นวันจนถึงวันที่ 21 หลังคลอด ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำการเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมนเอสตร้าไดอัล-17 เบต้า ผลการศึกษาจาก 25 ตัวพบว่า แม่ม้าจำนวน 23 ตัว (92%) มีการตกไข่ภายใน 20 วันหลังคลอด ซึ่งมีเพียง 10 ตัว (40%) ที่แสดงการเป็นสัดแรกหลังคลอด โดยมีค่าเฉลี่ยของช่วงเวลาตั้งแต่คลอดจนถึงแสดงการเป็นสัดแรก และช่วงเวลาตั้งแต่คลอดจนกระทั่งตกไข่ เท่ากับ 10.30+-2.95 และ 13.39+-2.61 วัน ตามลำดับ ในกลุ่มนี้พบว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฟอลลิเคิลก่อนตกไข่มากกว่ากลุ่มของแม่ม้าที่ไม่แสดงการเป็นสัดแรกหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (43.54+-6.67 และ 38.55+-2.38 มิลลิเมตร ตามลำดับ; P<0.05) ผลการตรวจวัดระดับฮอร์โมนเอสตร้าไดอัล-17 เบต้า พบว่ามีค่าสูงขึ้นอย่างชัดเจน ที่ 5 วันก่อนตกไข่ (7.01+-2.96 พิโครกรัม/มิลลิลิตร) และมีค่าสูงสุดที่ 2 วันก่อนตกไข่ (10.79+-3.3 พิโครกรัม/มิลลิลิตร) โดยพบว่ากลุ่มของแม่ม้าที่แสดงอาการเป็นสัดมีระดับฮอร์โมนเอสตร้าไดอัล-17 เบต้า ที่ 2 วันก่อนตกไข่สูงกว่าในกลุ่มของแม่ม้าที่ไม่แสดงอาการเป็นสัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (11.95+-3.72 และ 8.45+-2.28 พิโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ; P<0.05) และพบความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของฟอลลิเคิลที่ใหญ่ที่สุด กับ ระดับของฮอร์โมนเอสตร้าไดอัล-17 เบต้า ที่ 5 วัน และ 2 วันก่อนตกไข่ ในแม่ม้าทั้งสองกลุ่ม (P<0.05) จากผลดังกล่าวแสดงว่า การจัดการผสมพันธุ์แม่ม้าที่หลังคลอดโดยการตรวจหาวันตกไข่ด้วยวิธีต่างๆ นั้น สามารถเพิ่มจำนวนครั้งในการผสมพันธุ์ได้ อีกทั้งยังช่วยทำให้โอกาสของการผลิตลูกม้าต่อแม่สูงขึ้นด้วย