Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาไขมันสันหลัง ตั้งแต่ผสมพันธุ์ถึงหย่านมในแม่สุกร กับจำนวนลูกสุกรแรกคลอดทั้งหมดต่อครอก จำนวนลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิตต่อครอก น้ำหนักแรกคลอดเฉลี่ยจำนวนลูกสุกรหย่านมต่อครอก น้ำหนักหย่านมเฉลี่ย และระยะหย่านมถึงผสมครั้งแรก โดยศึกษาในฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์ลาร์จไวท์และแลนด์เรซ แบ่งการศึกษาเป็น 2 ฟาร์ม ประกอบด้วยฟาร์มที่ 1 และ 2 มีจำนวนแม่สุกรในแต่ละฟาร์มเท่ากับ 361 และ 422 ตัว ตามลำดับ แม่สุกรมีการกระจายในลำดับครอกต่างๆ กัน ทำการวัดความหนาไขมันสันหลังต่อเนื่อง 5 ครั้ง เริ่มต้นที่ผสมพันธุ์ อุ้มท้องสัปดาห์ที่ 4 อุ้มท้องสัปดาห์ที่ 12 เมื่อคลอด และเมื่อหย่านม ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ชนิด เอ-โมด บริเวณสันหลังที่ตำแหน่ง P2 มีจำนวนแม่สุกรที่วัดได้ในแต่ละจุดของฟาร์มที่ 1 เท่ากับ 361, 345, 330, 318 และ 255 ตัวตามลำดับ ในขณะที่ฟาร์มที่ 2 เท่ากับ 422, 360, 333, 318 และ 189 ตัว ตามลำดับ แม่สุกรที่หายไปเกิดจากไม่อุ้มท้องและถูกคัดทิ้ง แบ่งกลุ่มสุกรเป็น 5 กลุ่มตามปริมาณความหนาไขมันสันหลังประกอบด้วย BFT1 (น้อยกว่า 11 มิลลิเมตร) BFT2 (11.5-15 มิลลิเมตร) BFT3 (15.5-20 มิลลิเมตร) BFT4 (20.5-25 มิลลิเมตร) BFT5 (มากกว่า 25.5 มิลลิเมตร) พบว่าความหนาไขมันสันหลังในแต่ละจุดวัดของฟาร์มที่ 1 เท่ากับ 18.8 +- 3.8, 16.0 +- 3.3, 16.4 +- 3.2, 17.6 +- 2.9 และ 16.9 +- 2.9 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่วนฟาร์มที่ 2 เท่ากับ 17.3 +- 3.5, 16.8 +- 3.2, 17.7 +- 3.0, 19.2 +- 3.1 และ 18.3 +- 2.6 มิลลิเมตร ตามลำดับ กลุ่มสุกรที่ความหนาไขมันสันหลังพอดี และหนา (BFT3 และ 4) เมื่อผสมพันธุ์ และอุ้มท้อง 4 สัปดาห์ มีจำนวนลูกสุกรแรกคลอดทั้งหมดต่อครอกไม่แตกต่างกับกลุ่มอื่น (p > 0.05) และเมื่ออุ้มท้อง 12 สัปดาห์และคลอด กลุ่ม BFT3 และ 4 (ฟาร์มที่ 1) จะมีน้ำหนักแรกคลอดเฉลี่ยมากกว่ากลุ่ม BFT1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) และพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการสูญเสียไขมันสันหลังในช่วงคลอดถึงหย่านมกับระยะหย่านมถึงเป็นผสมครั้งแรก (r =0.2; p < 0.05) ผลของการศึกษาสรุปได้ว่าการวัดความหนาไขมันสันหลังเพื่อประเมินความสมบูรณ์รูปร่าง มีผลต่อสมรรถภาพการสืบพันธุ์แม่สุกรในระดับหนึ่ง