Abstract:
ศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน พี อาร์ อาร์ เอส ชนิดเชื้อเป็น (V1) ต่อการป้องกันโรคไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ ประเทศไทย ในลูกสุกรอายุ 3 สัปดาห์จำนวน 5 กลุ่ม ๆ ละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 ได้รับเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ 02SB3 (EU genotype) กลุ่มที่ 3 ได้รับเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ 01NP1 (US genotype) กลุ่มที่ 4 ได้รับวัคซีนเชื้อเป็นชนิด V1 ก่อนได้รับเชื้อไวรัส 02SB3 กลุ่มที่ 5 ได้รับวัคซีนเชื้อเป็นชนิด V1 ก่อนได้รับเชื้อไวรัส 01NP1 โดยทำการฉีดวัคซีนให้สุกรกลุ่ม 4 และ 5 ในวันที่ 0 และ 21 ของการทดลอง และทำการฉีดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ประเทศไทยแต่ละชนิดตามความเหมาะสมให้สุกรกลุ่ม 2 3 4 และ 5 ในวันที่ 42 ของการทดลอง วัดประสิทธิผลของวัคซีนจาก อาการทางคลินิก การมีไข้ ค่าโลหิตวิทยา รอยโรคทางมหพยาธิวิทยาของปอด ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด และ ต่อมน้ำเหลืองลำไส้ รอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาของปอด การย้อมอิมมูนโนฮิสโตเคมีใน ปอด ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด ต่อมทอนซิล ลำไส้เล็ก ต่อมน้ำเหลืองลำไส้ และม้าม ปริมาณไวรัส และสารพันธุกรรมของไวรัสในเลือด และเนื้อเยื่อ ด้วยวิธี virus titration และ RT-PCR การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วยวิธี ELISA และ serum neutralization ต่อไวรัส 3 สายพันธุ์ คือ 01NP1 (US genotype) 02SB3 (EU genotype) และ V1 และวัดประสิทธิภาพการผลิต จากการทดลอง ไม่พบการมีไข้ในสุกรทุกกลุ่ม และไม่มีความแตกต่างของค่าโลหิตวิทยา เว้นแต่สุกรกลุ่ม 3 ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเป็นเวลา 5 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส พบการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดในสุกรกลุ่ม 3 และ 5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) พบรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาของปอดในสุกรกลุ่ม 3 4 และ 5 สูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) พบผลบวกต่อการย้อมอิมมูโนฮิสโตเคมีใน ปอด ต่อมทอนซิล และต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดอย่างละ 1 จาก 6 ตัวอย่างในกลุ่ม 2 ใน ปอด 1 จาก 6 ตัวอย่างในกลุ่ม 4 และใน ต่อมทอนซิล และต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดอย่างละ 1 จาก 6 ตัวอย่างในกลุ่ม 5 สามารถตรวจพบไวรัสวัคซีนในกระแสเลือดของสุกรกลุ่ม 4 และ 5 รวม7 ตัวอย่างจากสุกรที่ทำวัคซีนครั้งแรกทั้งหมด 12 ตัว และการฉีดวัคซีนครั้งที่สองในวันที่ 21 ของการทดลองจะให้ ผลบวกของจำนวนตัวอย่าง ปริมาณไวรัสเฉลี่ย น้อยกว่าการให้วัคซีนครั้งแรก หลังจากการฉีดเชื้อพิษทับสายพันธุ์ต่าง ๆ ในวันที่ 42 ของการทดลองพบว่าสุกรทุกกลุ่มสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในกระแสเลือดได้ยกเว้นสุกรกลุ่ม 4 โดยสุกรกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจะมีผลบวกของจำนวนตัวอย่าง และปริมาณไวรัสน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสุกรกลุ่มที่ได้รับการฉีดเชื้อพิษทับเพียงอย่างเดียว จากทั้งการทดสอบด้วยวิธี virus titration และ RT-PCR ผลการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในเนื้อเยื่อพบผลบวก 7/23 6/23 ตัว และ 3/13 ในต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด ปอด และต่อมทอนซิลตามลำดับ โดยสุกรที่ได้รับการฉีดเชื้อพิษทับอย่างเดียวจะให้สัดส่วนผลบวกในปอดมากกว่าสุกรที่ได้รับวัคซีนร่วมด้วย แต่สุกรที่ได้รับวัคซีนร่วมด้วยจะมีสัดส่วนผลบวกในต่อมน้าเหลืองขั้วปอดมากกว่าสุกรที่ไดัรับการฉีดเชื้อพิษทับอย่างเดียว สุกรมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันตั้งแต่ 7 วันหลังได้รับวัคซีนโดยการทดสอบด้วยวิธี ELISA และมีค่าเฉลี่ย S/P ratio สูงสุดที่ 28 วันหลังจากทำวัคซีน หลังจากการฉีดเชื้อพิษทับสุกรทั้งสี่กลุ่มมีการตอบสนองต่อการฉีดเชื้อพิษทับ 12 วันให้หลัง โดยสุกรสองกลุ่มจะมีความใกล้เคียงกัน การทดสอบด้วยวิธี serum neutralization พบว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถ neutralization ได้เฉพาะกับไวรัส V1 (Vaccine virus; EU genotype) เท่านั้น โดยเริ่มพบไตเตอร์เฉลี่ยมากกว่า 2 ในวันที่ 42 หลังจากการทำวัคซีนเข็มแรกในสุกรทั้งสองกลุ่ม และเพิ่มขึ้น ตลอดจนสิ้นสุดการทดลอง ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนของประสิทธิภาพการผลิต จากการทดลองพบว่าการฉีดวัคซีนพี อาร์ อาร์ เอส ชนิด V1 สามารถลดระยะเวลา และปริมาณไวรัสในกระแสเลือด แต่ไม่สามารถลดรอยโรค และไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิต