Abstract:
โรค Taura syndrome ในกุ้งขาวแปซิฟิค (Litopenaeus vannamei) และ White spot syndrome ในกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) ก่อให้เกิดความสูญเสียในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทย งานวิจัยนี้พัฒนาการตรวจโรคทั้งสองด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยา ในกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำที่เพาะ เลี้ยงในฟาร์มจำนวน 39 ตัวอย่าง (n = 640 ตัว) จากทั้งหมด 4 จังหวัดตั้งแต่เดือนกันยายน 2546 ถึงกรกฎาคม 2547 ตรวจวินิจฉัยโรค Taura syndrome ด้วยวิธี One-step reverse transcriptase polymerase chsin reaction (RT-PCR) โดยใช้ Primer ทดสอบจำนวน 2 ชุด คือ OIE Marker (OIE, 2003) และ CUVET_Taura ซึ่งพัฒนาจากงานวิจัยนี้เพื่อใช้ในการหาสายพันธุ์ไวรัส ตรวจโรค White spot syndrome ด้วยวิธี Polymerase chain reaction (PCR) โดยใช้ Commercial test kit (Centext[superscript (R)]) ผลการตรวจโรคในกุ้งระยะ Postlarvae และระยะเต็มวัย พบว่ากุ้งขาวและกุ้งกุลาดำที่เพาะเลี้ยงสามารถติดโรคทั้งสองโรคและอาจตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดในกุ้งป่วยตัวเดียวกัน นอกจากนี้ยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดปนเปื้อนในน้ำเพาะเลี้ยงกุ้ง ใช้ CUVET_Taura Primer หาลำดับเบสของยีน VP1 ในผลิตภัณฑ์ PCR ของสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส Taura syndrome พบว่าเชื้อไวรัสที่ระบาดอยู่ในฟาร์ม เป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสของประเทศไต้หวันมากกว่าสายพันธุ์จากอเมริกาและเม็กซิโก การศึกษาแสดงถึงการเกิดโรค Taura syndrome ในกุ้งกุลาดำจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ของประเทศไต้หวันและการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในน้ำ ซึ่งอาจแสดงถึงวิธีการแพร่กระจายของโรคภายในฟาร์ม