Abstract:
ทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายในสื่อน้ำมัน ที่เตรียมขึ้นจากซัลโมเนลลา เอนเทอริติดิส (EXBAC) ในการป้องกันการติดเชื้อของอวัยวะภายในและการแพร่เชื้อผ่านไข่ในไก่ไข่ แบ่งการทดลองออกเป็นสองการทดลอง ในการทดลองแรก เมื่อไก่อายุ 4 สัปดาห์ แบ่งไก่ออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 20 ตัว ให้วัคซีนโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณคอ โดยไก่กลุ่มที่ 1 และ 2 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเพื่อการค้า (COMBAC) และได้รับวัคซีนที่ผลิตขึ้น (EXBAC) ตามลำดับ เมื่อไก่อายุ 8 สัปดาห์ ป้อนเชื้อพิษทับด้วยเชื้อสายพันธุ์เดียวกันกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีน แก่ไก่ทุกตัว ความเข้มข้น 1.5x10[superscript 6] colony forming unit (cfu.) ผลการเพาะเชื้อทางแบคทีเรียพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่ผลิตขึ้นกับกลุ่มควบคุม จากตัวอย่างม้ามและไส้ตันสำหรับการตรวจแอนติบอดีด้วยวิธี ELISA พบว่าไก่ทดลองกลุ่มที่ 3 ที่ได้รับวัคซีนเพื่อการค้า มีระดับแอนติบอดีสูงกว่าไก่ทดลองทุกกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ที่อายุ 6 และ 8 สัปดาห์ แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างไก่ในกลุ่มดังกล่าวกับไก่ในกลุ่มที่ 4 ที่ได้รับวัคซีนที่ผลิตขึ้น ในการทดลองที่สองแบ่งไก่ทดลองออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 20 ตัว ไก่กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 และ 3 ให้วัคซีนเพื่อการค้า ที่อายุ 8 สัปดาห์ ครั้งเดียว และให้สองครั้งที่อายุ 8 กับ 12 สัปดาห์ ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 และ 5 ให้วัคซีนที่ผลิตขึ้น ที่อายุ 8 สัปดาห์ ครั้งเดียว และให้สองครั้งที่อายุ 8 กับ 12 สัปดาห์ ตามลำดับ เมื่ออายุ 23 สัปดาห์ ป้อนเชื้อพิษทับแก่ไก่ทดลองทุกตัว ความเข้มข้น 2x10[superscript 8] cfu. ผลการเพาะเชื้อ S. Enteritidis ในไส้ตันของไก่กลุ่มที่ได้รับวัคซีน พบจำนวนตัวอย่างที่ให้ผลบวกต่อการตรวจพบเชื้อน้อยกว่าไก่กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผลการเพาะเชื้อจากเปลือกไข่ และถุงไข่แดงไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลอง การตรวจแอนติบอดีด้วยวิธี ELISA พบว่า ไก่ที่ได้รับวัคซีนเพื่อการค้าและไก่ที่ได้รับวัคซีนที่ผลิตขึ้น มีระดับแอนติบอดีที่สูงกว่าไก่กลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนจนสิ้นสุดการทดลอง และไม่พบความแตกต่างของระดับแอนติบอดีระหว่างไก่ที่ได้รับวัคซีนเพื่อการค้าและไก่ที่ได้รับวัคซีนที่ผลิตขึ้น