Abstract:
ทดลองหาค่า LC50 (median lethal concentration) ภายใน 96 ชั่วโมง เพื่อเปรียบเทียบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารฆ่าแมลงสองกลุ่ม (กลุ่มออแกนโนฟอสเฟต = เมททิลพาราไธออนและกลุ่มคาร์บาเมต = คาร์บาริล) ในกุ้งกุลาดำและปลากะพงขาว ค่า LC50, 96 ชม. ของเมททิลพาราไธออนในกุ้งกุลาดำและปลากะพงขาวเท่ากับ 54 มค.ก/ลิตร และ 1.48 มก./ลิตร ตามลำดับ และค่า LC 50 ภายใน 96 ชั่วโมงของคาร์บาริลในปลากะพงขาวเท่ากับ 2.95 มก./ลิตร อัตราการตายและความรุนแรงของอาการเป็นพิษของกุ้งกุลาดำและปลากะพงขาวเพิ่มขึ้นตามขนาดความเข้มข้นของสารฆ่าแมลงทั้งสองชนิด จากค่า LC 50 ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ากุ้งกุลาดำมีความไวจากความเป็นพิษของเมททิลพาราไธออน มากกว่าปลากะพงขาวประมาณ 30 เท่า และในปลากะพงขาวนั้น เมททิลพาราไธออนมีความเป็นพิษมากกว่าคาร์บาริลสองเท่าโดยประมาณ นอกจากนี้สมรรถนะเอนไซม์โฆลีนเอสเทอเรสในสมอง (สำหรับกุ้งเป็นเส้นประสาท) และกล้ามเนื้อของปลาและกุ้งทุกกลุ่มที่ได้รับสารฆ่าแมลงทั้งสองชนิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สมรรถนะของเอนไซม์ที่ลดลงยังขึ้นกับความเข้มข้นของสารฆ่าแมลงทั้งสองชนิดที่ได้รับ ส่วนผลการตรวจทางจุลพยาธิสภาพนั้นกลับไม่พบว่ามีการผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญทั้งในกุ้งและปลาที่สัมผัสสารฆ่าแมลงในขนาดสูงและตายในทันที (ภายใน 6 ชั่วโมง) ดังนั้นผลการตรวจจุลพยาธิสภาพไม่ได้แสดงถึงความสัมพันธ์ของขนาดความเข้มข้นและความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพได้ในความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามผลการตรวจจุลพยาธิสภาพของกุ้งและปลาที่รอดตายเกิน 24 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่ามีการเสียหายของเหงือก ตับ (ในกุ้งเป็นตับและตับอ่อน) และกล้ามเนื้อเกิดขึ้นเนื่องจากสารฆ่าแมลง ดังนั้นระยะเวลาที่สัมผัสกับสารพิษเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรงของการเปลี่ยนสภาพ จากผลการศึกษาทั้งหมดโดยรวมทำให้ได้ข้อเสนอแนะว่าการยับยั้งสมรรถนะเอนไซม์โฆลีนเอสเทอเรสอย่างรุนแรงทั้งในกล้ามเนื้อและสมองเนื่องจากสารฆ่าแมลงที่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์โฆลีนเอสเทอเรสทั้งสองกลุ่ม (ออแกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต) เป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงเหล่านี้เป็นอย่างดี วิธีการนี้มีความจำเพาะ สามารถตรวจได้โดยง่าย รวดเร็ว และเป็นที่ใช้กันอย่างกว้าวงขวาง