Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเกตผลของการฝังจี เอ็น อาร์ เอช อะโกนิสต์ ชนิดเดสโลรีลิน ใต้ผิวหลังต่อระบบสืบพันธุ์ของสุนัขเพศเมียก่อนวัยเจริญพันธุ์ โดยใช้ลูกสุนัขเพศเมียสุขภาพแข็งแรงที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน 6 ครอก ครอกละ 3 ตัว ทำการสุ่มแบ่งลูกสุนัขในแต่ละครอกออกเป็น สุนัขตัวที่หนึ่งและสองซึ่งเป็นกลุ่มทดลอง ได้รับการฝังเดสโลรีลิน ขนาด 10 มิลลิกรัมที่อายุ 4 และ 7 เดือนตามลำดับ และสุนัขตัวที่สามในครอกเดียวกันได้รับการฝังยาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม โดยไม่พบความผิดปกติใดๆ เมื่อทำการตรวจสุขภาพสุนัขและบริเวณตำแหน่งของการฝังเดสโลรีลิน หลังจากการฝังจี เอ็น อาร์ เอช อะโกนิสต์สุนัขทั้งหมดได้รับการตรวจระยะการเป็นสัด โดยประเมินจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุช่องคลอด ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดคือ หลังจากการฝังฮอร์โมนหรือยาหลอก 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจึงทำการตรวจระยะการเป็นสัดทุก 2 สัปดาห์จนสุนัขทุกตัวมีอายุ 13 เดือน เมื่อสิ้นสุดการทดลองทำการวัดขนาดของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของสุนัขกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ทำการเก็บรังไข่และมดลูกเพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงทางจุลกายวิภาค ผลการศึกษาพบว่าสุนัขกลุ่มทดลองที่ทำการฝังเดสโลรีลินที่อายุ 4 เดือนทุกตัว (6/6) อยู่ในระยะการเป็นสัดแบบ แอนเอสตรัส ตลอดระยะเวลาการศึกษา (36 สัปดาห์) ในขรธสุนัขที่ทำการฝังเดสโลรีลินที่อายุ 7 เดือนทุกตัว (6/6) แสดงอาการเป็นสัดภายหลังจากการฝังฮอร์โมน 4 ถึง 14 วัน ในกลุ่มควบคุมพบว่าสุนัข 5 ใน 6 ตัวแสดงการเป็นสัดเป็นสัดในช่วง 1 ถึง 4 เดือนภายหลังจากการฝังยาหลอก ช่วงห่างของระยะโปรเอสตรัสและเอสตรัสของสุนัขกลุ่มทดลองที่ทำการฝังฮอร์โมนที่อายุ 7 เดือนและยาหลอกไม่มีความแตกต่างกัน ในขณะที่ช่วงห่างของอายุไดเอสตรัสของสุนัขที่ทำการฝังฮอร์โมนที่อายุ 7 เดือนมีระยะเวลาน้อยกว่าในสุนัขกลุ่มควบคุม (31±0 วันและ 57.6±15.5 วันตามลำดับ) หลังจากสิ้นสุดการทดลองพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของขนาดของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของสุนัขกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (p>0.05) ผลทางจุลกายวิภาคไม่พบพยาธิสภาพของรังขาและมดลูกทั้งในสุนัขกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จึงสรุปได้ว่าการฝังจี เป็น อาร์ เอช อะโกนิสต์ เข้าใต้ผิวหนังของสุนัขเพศเมียที่อายุ 4 เดือนจะไม่แสดงผลในการเหนี่ยวนำการเป็นสัดดังเช่นที่พบในการฝังที่อายุ 7 เดือน และไม่พบความผิดปกติจากการฝังเดสโลรีลินทั้งอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและภายใน นอกจากนี้การฝังเดสโลรีลินในสุนัขที่อายุ 4 เดือนจะทำให้สุนัขถึงวัยเจริญพันธุ์ได้ช้าลง