Abstract:
สุกรลูกผสม 3 สาย น้ำหนักเริ่มต้นประมาณ 25 +- 5 กก. จำนวน 40 ตัว เป็นสุกรเพศผู้ตอน 19 ตัว และเพศเมีย 21 ตัว ทำการสุ่มเพื่อแบ่งสุกรออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 10 ตัว นำไปเลี้ยงขังเดี่ยวด้วยอาหารที่มีกรดอะมิโนเมทไทโอนีน 0.25% และ 0.19% และกรดอะมิโนที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ในระดับ 0.45% และ 0.37% ของน้ำหนักแห้ง ในสุกรช่วงน้ำหนัก 30-60 กก. และ 60-95 กก. ตามลำดับ โดยมีระดับไลซีนและพลังงานใช้ประโยชน์คงที่เสริมด้วยกรดอะมิโนเมทไทโอนีนในระดับ 0.0%, 0.1%, 0.2% และ 0.3% ในอาหารทั้ง 2 ช่วงน้ำหนัก เลี้ยงจนได้น้ำหนัก 95 +- 5 กก. จากนั้นนำไปฆ่าเพื่อประเมินคุณภาพซาก เก็บข้อมูล อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในคอกทุกวัน น้ำหนักสุกร ปริมาณอาหารที่กิน จำนวนวันที่ใช้ และคุณภาพซากทั้งปริมาณและคุณภาพ วิเคราะห์ความแปรปรวนของข้อมูลโดยใช้ Analysis of Variance และใช้ Duncan's New Multiple Range Test ในการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ขณะทดลองเป็น 27.73 องศาเซลเซียส, 33.10 องศาเซลเซียส และ 85.56%, 62.93% ในเวลา 8.00 น. และ 16.00 น. ตามลำดับ ในช่วงน้ำหนัก 30-60 กก. ไม่พบความแตกต่างทางสถิติของน้ำหนักเพิ่ม ปริมาณอาหารที่กิน และจำนวนวันที่ใช้ในการทำน้ำหนักตัว แต่พบความแตกต่างในเรื่องของอัตราการ แลกเนื้อ (P<0.05) โดยในกลุ่มที่เสริมด้วยเมทไทโอนีนในระดับ 0.1% เป็นกลุ่มที่โตดีที่สุดและใช้เวลาในการทำน้ำหนักตัวน้อยที่สุด และไม่พบความแตกต่างทางสถิติในทุกลักษณะที่สังเกตในช่วงน้ำหนัก 60-95 กก. ในเรื่องเพศพบว่าสุกรเพศผู้ตอนให้อัตราการเจริญเติบโตดีกว่าเพศเมียในทุกช่วงน้ำหนัก และใช้เวลาในการทำน้ำหนักตัวน้อยกว่าเพศเมีย (P<0.01) โดยที่กลุ่มที่ไม่ได้เสริมและกลุ่มที่เสริมในระดับ 0.1% ให้ผลไม่แตกต่างกันแต่แตกต่างจาก 2 กลุ่มที่เหลือ ในช่วงน้ำหนัก 30-60 กก. ขณะที่ในช่วง 60-95 กก. แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง (P<0.01) ในทุกกลุ่ม ทางด้านคุณภาพซาก การเสริมเมทไทโอนีนที่ระดับ 0.2% ให้พื้นที่หน้าตัดไขมันมีค่าสูงที่สุดและแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) กับกลุ่มที่ไม่เสริม แต่ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่เสริมที่ระดับ 0.1% และ 0.3% ความหนาไขมันสันหลังในสุกรเพศผู้ตอนหนากว่าเพศเมีย (P<0.01) แต่มีเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงน้อยกว่าเพศเมีย (P<0.05) การเสริมเมทไทโอนีนทุกระดับไม่มีผลต่อค่าความเป็นกรดเป็นด่างในเนื้อสัน (pH) ความสามารถในการอุ้มน้ำของโปรตีนในเนื้อสุกร (WHC) แต่พบว่ามีผลต่อความเข้มของสีเนื้อ (P<0.01)