Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานของประชากรวัยแรงงานและปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงาน โดยศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลในปีพ.ศ. 2542 รอบที่ 1 (กุมภาพันธ์) และปีพ.ศ. 2545 ไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) ทั้งนี้เพื่อทราบผลการเปลี่ยนแปลงถึงความต้องการดังกล่าวระหว่างช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกับช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ที่มาของแหล่งข้อมูลได้จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว ในปีพ.ศ. 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 45,528,840 ราย (จำนวนไม่ถ่วงน้ำหนัก 125,629 ราย) และในปีพ.ศ.2545 มีจำนวน 47,441,734 ราย (จำนวนไม่ถ่วงน้ำหนัก 166,515 ราย) ผลจากการศึกษาพบว่า แนวโน้มความต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานในปีพ.ศ. 2545 มีสัดส่วนที่ลดลงเล็กน้อยจากปี พ.ศ. 2542 (จากร้อยละ 21.2 ลดเหลือร้อยละ 20.6) โดยประชากรวัยแรงงานต้องการจะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในหลักสูตรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในสัดส่วนเพิ่มขึ้น และในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานกับลักษณะทางประชากรและลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการวิเคราะห์ตารางไขว้ พบว่า ตัวแปรเพศ อายุ สถานภาพสมรส จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ระดับการศึกษา สถานภาพการทำงาน อาชีพ รายได้ของลูกจ้าง เขตที่อยู่อาศัย และภาคที่อยู่อาศัย เป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์ต่อความต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับต่ำกว่า 0.05 และในตัวแปรเพศ อายุ สถานภาพการทำงาน เขตที่อยู่อาศัย และภาคที่อยู่อาศัยมีทิศทางเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ในขณะที่ตัวแปรอาชีพพบว่า ความสัมพันธ์มีทิศทางเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้เฉพาะในปีพ.ศ. 2545 ส่วนตัวแปรสถานภาพสมรส จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ระดับการศึกษา และรายได้ของลูกจ้าง พบว่า ความสัมพันธ์มีทิศทางไม่เป็นไปตามสมมุติฐาน เมื่อพิจารณาด้วยตัวแปรอายุ เขตที่อยู่อาศัย และภาคที่อยู่อาศัยเป็นตัวแปรควบคุม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเพศ สถานภาพสมรส จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ระดับการศึกษา สถานภาพการทำงาน อาชีพ และรายได้ของลูกจ้างกับความต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (ความสัมพันธ์ลวง) สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอายุ เขตที่อยู่อาศัย และภาคที่อยู่อาศัยกับความต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานมีแบบแผนความสัมพันธ์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (ความสัมพันธ์ที่แท้จริง) ข้อค้นพบจากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรจะมีการส่งเสริมในเรื่องการให้ความรู้และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานของประชากรวัยแรงงานให้มากยิ่งขึ้น ตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะความสามารถเพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในโลกยุคโลกาภิวัตน์ รวมถึงให้มีการสนับสนุนการวิจัยเพื่อหาแนวทางพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานของประชากรวัยแรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การพัฒนาดังกล่าวจักเป็นการสร้างฐานประชากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป