Abstract:
ได้ทำการพัฒนาวิธีทดสอบแอนติบดีต่อเชื้อ ซาลโมเนลลา เอนเตอริทิดิส (Salmonella enteritidis) ในฝูงไก่ โดยวิธีอินไดเร็ค อีไลซ่า (Indirect Enzyme-linked immunosorbent Assay-ELISA) เปรียบเทียบกับวิธี อินไดเร็คฮีแมกกลูติเนชั่น (Indorect Hemagglutlinaton - IHA) โดยใช้สารสกัดไลโปโพลีแซคคาไรด์ (Lipopolysaccharide - LPS) จากผนังเซลล์ของเชื้อเป็นแอนติเจนในการทดสอบทั้งวิธี ELISA และ IHA ค่าตัดสินบวกและลบของวิธี ELISA คือ 0.34 ได้จากค่า O.D (optical density) เฉลี่ยของซีรั่มไก่ SPF (specific pathogen free) บวกกับ 3 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนวิธี IHA ซีรั่มไตเตอร์ 1:16 ขึ้นไปตัดสินเป็นบวก ทำการทดลองในไก่ให้ติดเชื้อ 2 การทดลอง คือ ไก่อายุ 8 วัน ใช้เวลาทดลอง 12 สัปดาห์ และในไก่อายุ 12 สัปดาห์ ใช้เวลา 8 สัปดาห์ โดยป้อนเชื้อ S.enteritidis 10 [superscript 5] CFU ทุกตัวๆ ละ 1 มิลลิลิตรครั้งเดียว แล้วเจาะเลือดไก่ทดลองแยกซีรั่มทุกสัปดาห์ เพื่อทดสอบแอนติบอดี้ต่อ S.enteritidis พร้อมทั้งสวอปอุจจาระจากก้นไก่ สัปดาห์ละครั้งเพื่อเพาะแยกเชื้อนี้ ผลการทดลองมีดังนี้ การทดลองที่ 1 ในไก่เล็ก พบว่า สามารถตรวจแยกเชื้อ S.enteritidis จากอุจจาระได้สัปดาห์แรกหลังป้อนเชื้อมีเปอร์เซ็นสูงสุด 38.2% จากนั้นพบเชื้อในอัตราไม่แน่นนอนจนสิ้นสุดการทดลอง และพบเชื้อต่ำสุด 5.4% ในสัปดาห์ที่ 5 และแยกเชื้อนี้ได้จากอวัยวะภายในของไก่ 13 ตัว ที่ตายระหว่างการทดลองและ 4 ตัวจากการทำลายหลังสิ้นสุดการทดลอง ในการทดลองครั้งนี้ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเลือดจากไก่ 13 ถึง 18 ตัวจากไก่ 50 ตัวในแต่ละสัปดาห์ ผลการตรวจแอนติบอดีโดยวิธีโดยวิธี IHA พบเพียง 2 ตัวอย่าง คือ 1 ตัวอย่าง (1/16) หลังป้อนเชื้อ 4 สัปดาห์ และอีก 1 ตัวอย่าง (1/16) ที่ 11 สัปดาห์ ส่วนวิธี ELISA สามารถตรวจพบ 2 ตัวอย่างสัปดาห์ที่ 4 เช่นกัน และพบอีกสัปดาห์ที่ 7 ขึ้นไปทุกสัปดาห์ให้ผลบวกระหว่าง 12-30% การทดลองที่ 2 ในไก่ใหญ่ ตรวจพบเชื้อจากอุจจาระไก่เพียง 1 ตัว (1/58) หลังป้อนเชื้อสัปดาห์แรกและอีก 1 ตัว (1/42) สัปดาห์ที่ 6 และพบเชื้อจากตับไก่ เพียงตัวเดียวที่ตายระหว่างการทดลอง ผลการตรวจแอนติบอดีวิธี IHA ให้ผลบวกหลังป้อนเชื้อสัปดาห์แรกจนตลอดการทดลองใช้ในช่วง 8-38% ทำนองเดียวกันวิธี ELISA ให้ผลบวกสัปดาห์แรกขึ้นไปจนสิ้นสุดการทดลองอยู่ในระหว่าง 29-66% ผลการทดลองแสดงว่าไก่อายุน้อยมีความไวรับโรคติดเชื้อ S.enteritidis มากกว่าไก่อายุมาก เนื่องจากพบอัตราการตายและพบเชื้อในอุจจาระมากกว่าไก่อายุมาก การตรวจแอนติบอดีวิธี ELISA มีความไวกว่าวิธี IHA มาก และสามารถบ่งชี้สภาวะการติดเชื้อในฝูงได้ดีในไก่อายุประมาณ 8 สัปดาห์ขึ้นไป การตรวจวิธี IHA และ ELISA มีความสัมพันธ์กัน แต่ไม่สัมพันธ์กับการตรวจแยกเชื้อจากอุจจาระ ดังนั้นจึงสรุปจากผลการทดลอง แนะนำว่าวิธี ELISA เป็นวิธีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในปัจจุบันนี้สำหรับการสำรวจแอนติบอดีต่อ S.enteritidis ในฟาร์มเลี้ยงไก่