Abstract:
การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวยต่อกุ้งกุลาดำระยะโพสต์ลาวา 18, 30 และ 42 โดยใช้วิธีชีววิเคราะห์แบบน้ำนิ่ง ได้ค่า LC[subscript 50] ที่ 24 ชั่วโมง เท่ากับ 2,200 (1,966.04-2,461.80), 2,750 (2,387.15-3,168) และ 2,900 (2,495.69-3,369.80) มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ และมีค่าฟังก์ชันความลาดเอียงที่ช่วงเชื่อมั่น 95% เท่ากับ 1.505 (1.393-1.625), 1.753 (1.506-2.040) และ 1.602 (1.392-1.844) ตามลำดับ คุณสมบัติต่างๆ ของน้ำระหว่างการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวย พบว่า ไม่มีผลต่ออุณหภูมิของน้ำ และความเค็ม แต่มีผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ความเป็นกรดเป็นด่าง และความเป็นด่างทั้งหมดลดลง ส่วนปริมาณแอมโมเนียทั้งหมดเพิ่มขึ้น ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อลูกกุ้งกุลาดำ การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งของสารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวยต่อเชื้อไวรัสหัวเหลืองและไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งกุลาดำโดยผสมสารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวยที่ละลายใน K-199 ให้มีความเข้มข้นเท่ากับ 10,000, 7,500, 5,000, 2,500, 1,000, 100, 10 และ 1 มิลลิกรัมต่อลิตรต่อเชื้อไวรัสหัวเหลืองและไวรัสตัวแดงดวงขาวที่เจือจาง 1:1,000,000 และ 1:100,000 ตามลำดับ จากนั้นนำไปฉีดเข้ากล้ามเนื้อกุ้งกุลาดำขนาดน้ำหนัก 7.09-15.68 กรัม แล้วเลี้ยงต่อเป็นเวลา 7 วัน พบว่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด โดยกุ้งมีอัตรารอด 50% ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติกับความเข้มข้นที่ 1 มิลลิกรัมต่อลิตร และความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด โดยกุ้งมีอัตรารอด 100 เปอร์เซ็นต์ คือ 10,000 มิลลิกรัมต่อลิตร นอกจากนี้ยังพบว่า การให้กุ้งกุลาดำขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 14.60 กรัมได้รับอาหารผสมสารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวยที่ระดับความเข้มข้น 2,500 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไป วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในกุ้งโดยให้ค่า phenoloxidase activity ในน้ำเลือดเพิ่มมากกว่าในกุ้งชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p<0.01)