Abstract:
วัตถุประสงค์ : การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองในห้องปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่าแรงยึดเฉือนและสภาพการแตกหักภายหลังการทดสอบแรงยึดเฉือนของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดบ่มตัวด้วยแสงบนรอยผุจำลองระยะเริ่มแรกของฟันถาวร เมื่อใช้ระยะเวลาการกัดด้วยกรดแตกต่างกัน วิธีการดำเนินการวิจัย : ฟันกรามน้อยถาวรจำนวน 80 ซี่ เตรียมรอยผุจำลองในระยะเริ่มแรกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ม.ม. ที่ผิวเคลือบฟันด้านแก้ม ด้วยการแช่ชิ้นตัวอย่างในสารละลายที่ทำให้เกิดกระบวนการสูญเสียแร่ธาตุ (Carbopol demineralizing solution) ที่มีค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 5.0 นาน 8 วัน แบ่งชิ้นตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 20 ซี่โดยการสุ่ม จากนั้นยึดวัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน (Delton ®) กับผิวรอยผุจำลองโดยใช้ระยะเวลาการกัดด้วยกรดในแต่ละกลุ่มนาน 5, 15, 30, และ 60 วินาที นำชิ้นตัวอย่างแช่ในน้ำกลั่นที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำไปทดสอบแรงยึดเฉือนด้วยเครื่องทดสอบสากลอินสตรอน ด้วยความเร็วของหัวทดสอบ 0.5 ม.ม. ต่อนาที ผลการวิจัย : การทดสอบค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่าค่าแรงยึดเฉือนของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันบนรอยผุจำลองระยะเริ่มแรกเมื่อใช้ระยะเวลาการกัดด้วยกรด 5, 15, 30, และ 60 วินาที มีค่า 7.66 ± 1.41, 7.21± 1.86, 7.26 ± 2.22, และ 8.43 ± 1.38 เมกกะปาสคาล ตามลำดับ เมื่อทดสอบด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ผลการประเมินสภาพการแตกหักของวัสดุในทุกกลุ่มแบ่งเป็นสภาพการแตกหักแบบแอดฮีซีฟ แบบโคฮีซีฟในเคลือบฟัน และแบบผสม ในแต่ละกลุ่มมีการแตกหักแบบผสม มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 53.33, 61.11, 52.94 และ 60.00 ตามลำดับ สรุปผลการวิจัย : ระยะเวลาการกัดด้วยกรดที่ต่างกัน ไม่มีผลต่อแรงยึดเฉือนของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดบ่มตัวด้วยแสงบนรอยผุจำลองระยะเริ่มแรกของฟันถาวร