Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ในการศึกษาประสบการณ์การปรับตัวทางวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงานไทยย้ายถิ่น เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์จากผู้ให้ข้อมูลที่เคยเดินทางไปทำงานเป็นแรงงานในต่างประเทศ เป็นเพศชายทั้งหมดจำนวน 9 ราย โดยคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด วิเคราะห์ข้อมูลตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบทีมผู้วิจัยเห็นชอบร่วมกัน ผลการศึกษาพบประเด็นหลักทั้งหมด 7 ประเด็น ได้แก่ 1) แรงจูงใจหลักในการไปทำงานต่างประเทศ คือ การมีความหวังถึงรายได้ที่ดีกว่า และความต้องการนำเงินมาดูแลครอบครัว สร้างฐานะความเป็นอยู่ 2) ภาวะใจเมื่อต้องย้ายถิ่น ที่แรงงานมีทั้งกลุ่มที่รู้สึกห่วงกังวลถึงครอบครัวและชีวิตความเป็นอยู่ในต่างประเทศ และกลุ่มที่พร้อมในการเดินทาง 3) การประสบกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทางแล้วแรงงานย้ายถิ่นต้องพบกับความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ เช่น สภาพอากาศ อาหาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และภาษา 4) สิ่งรบกวนใจในสภาพแวดล้อมใหม่ เป็นภาวะใจของผู้ให้ข้อมูลที่มีความรู้สึกคิดถึงบ้าน เหงาโดดเดี่ยว มีความทุกข์ใจจากการดำเนินชีวิตที่ยากลำบาก และรู้สึกเหน็ดเหนื่อยท้อแท้กับการทำงาน 5) การปรับตัวเมื่ออยู่ในวัฒนธรรมใหม่ โดยผู้ใช้แรงงานย้ายถิ่นมีการปรับเจตคติและความคิดของตนเอง มีการจัดการกับสิ่งรบกวนใจ และมีการดูแลและพึ่งพาตนเอง 6) สิ่งเกื้อหนุนในการดำเนินชีวิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มเป็นสังคมคนไทยในที่ทำงานเดียวกันและเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และ 7) รางวัลจากแรงกายในต่างแดน ได้แก่ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว และการมีความสุขเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยซึ่งเป็นผลจากการเดินทางไปทำงาน ผลการวิจัยนี้ทำให้เข้าใจประสบการณ์การปรับตัวทางวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงานที่ย้ายถิ่น และเป็นแนวทางให้นักจิตวิทยาการปรึกษาในการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศต่อไป