Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยผลกระทบของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อผลิตภาพการผลิตของอุตสาหกรรมของประเทศไทย ข้อมูลที่ใช้เป็นของสถานประกอบการจำนวน 1,280 แห่ง ที่ดำเนินการผลิตในปี 2545 โดยแหล่งของข้อมูลคือการสำรวจอุตสาหกรรมการผลิตของสำนักงานสถิติแห่งชาติ การศึกษามี 3 ส่วน คือส่วนที่หนึ่ง ศึกษาผลกระทบโดยตรง (Direct effects) ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาพรวม ส่วนที่สอง ศึกษาผลกระทบโดยตรงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่สำคัญ และส่วนที่สาม ศึกษาผลกระทบภายนอก (Spillover effects) ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาพรวมโดยศึกษาผลกระทบของการลงทุนจากต่างประเทศต่อสถานประกอบการซึ่งมีผู้ประกอบการไทยเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ วิธีการศึกษาใช้แบบจำลอง 2 ประเภท คือ แบบจำลองผลกระทบโดยตรงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและแบบจำลองผลกระทบภายนอกของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และใช้ตัวแปรที่มีผลต่อผลิตภาพการผลิต ได้แก่ สัดส่วนทุนต่อแรงงาน ขนาดของสถานประกอบการ ค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยในสถานประกอบการ และตัวแปรการร่วมทุนของต่างชาติ (Foreign presence) ผลการศึกษาในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมพบว่า การลงทุนจากต่างประเทศก่อให้เกิดผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานของสถานประกอบการที่มีสัดส่วนการร่วมทุนหรือถือหุ้นของชาวต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 10 การศึกษาผลกระทบในรายอุตสาหกรรมพบว่า การลงทุนจากต่างประเทศช่วยให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม ดังนี้คือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ การวัดความเที่ยง และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์นาฬิกา อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ และอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งการผลิตซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาผลกระทบร่วมระหว่างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศกับสัดส่วนการส่งออก พบว่า ผลิตภาพแรงงานของอุตสาหกรรมยานยนต์ เพิ่มสูงขึ้นเมื่อร่วมลงทุนกับต่างประเทศควบคู่ไปกับการส่งออก ผลการศึกษาผลกระทบภายนอกจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาพรวมพบว่าการลงทุนจากต่างประเทศมิได้ช่วยให้ผลิตภาพแรงงานของผู้ประกอบการที่มีชาวไทยเป็นเจ้าของเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับผลกระทบในเชิงลบ อย่างไรก็ตามผลกระทบภายนอกก่อให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในสถานประกอบการที่มีสัดส่วนทุนต่อแรงงานมีค่าสูง และการผลิตมีปริมาณสูง ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางควรได้รับการเอาใจใส่จากภาครัฐอย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบทางลบอันเกิดจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดผลกระทบทางบวกขึ้น โดยในขณะนี้ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ ความสามารถบุคลากรในสถานประกอบการ และส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาต่างๆขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณอันดีในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไปในอนาคต