Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาและตรวจสอบความตรงของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการรับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มและความสุข โดยมีการเผชิญปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน (2) ศึกษาความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการรับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มการเผชิญปัญหา และความสุขในกลุ่มนักศึกษาที่มีปริมาณเหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มแตกต่างกัน และ (3) ศึกษาประสบการณ์ด้านจิตใจของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสานวิธีประเภท เชิงอธิบายเป็นลำดับ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงปริมาณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 1,240 คน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีปริมาณเหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มในระดับสูงและมีความสุขในระดับมาก จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล มาตรวัดประสบการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่ม มาตรวัดการเผชิญปัญหามาตรวัดความสุข และแนวคำถามสัมภาษณ์รายบุคคล การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้โมเดลสมการโครงสร้าง ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบปรากฎการณ์นิยม ผลการวิจัยพบว่า 1) โมเดลเชิงสาเหตุของการรับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มที่ส่งผลต่อความสุขโดยมีการเผชิญปัญหา 3 รูปแบบเป็นตัวแปรส่งผ่าน ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ตัวแปรทั้งหมดร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความสุขได้ร้อยละ 66 (Chi-square = 0.26, df = 1, p = 0.608, GFI=1.00, AGFI= .99) 2) โมเดลเชิงสาเหตุของการรับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มที่ส่งผลต่อความสุขโดยมีการเผชิญปัญหา 3 รูปแบบเป็นตัวแปรส่งผ่าน ในกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณเหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มสูงและต่ำ มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยในกลุ่มที่มีจำนวนปริมาณเหตุการณ์สูงนั้นตัวแปรทั้งหมดร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความสุขได้ร้อยละ 69 (Chi-square = 1.290, df = 1, p = 0.260, GFI=1.00, AGFI= .98) และกลุ่มที่มีจำนวนปริมาณเหตุการณ์ต่ำนั้นตัวแปรทั้งหมดร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความสุขได้ร้อยละ 65 (Chi-square = 0.00, df = 1, p = 0.98, RMSEA = .00) ผลการทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนพบว่าปริมาณเหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มเป็นตัวแปรกำกับในความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการรับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงระดับกลุ่มที่ส่งผลต่อความสุขโดยมีการเผชิญปัญหา 3 รูปแบบ เป็นตัวแปรส่งผ่าน 3) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบประสบการณ์ด้านจิตใจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การรับรู้เหตุการณ์ความไม่สงบ ผลกระทบจากการประสบเหตุ การปรับตัวปรับใจเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่รายล้อม และการเติบโตมีวุฒิภาวะภายหลังประสบเหตุ