Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบ และวิธีการในการบริหารและการจัดสรรทรัพยากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีก่อนและหลังการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และเพื่อศึกษาถึงประสิทธิภาพการบริหารและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น วิธีดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิจัยเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เอกสาร เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และแบบสอบถามความคิดเห็นของบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และวิเคราะห์โดยใช้ค่าสถิติพื้นฐาน สามารถผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. การบริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระ และมีอำนาจในการบริหารงานของตนเองมากขึ้น ทำให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงาน เกิดการกระจายอำนาจการตัดสินใจและลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่สลับซับซ้อน 2. การบริหารงานด้านวิชาการ การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีส่วนช่วยส่งเสริมการผลิตงานวิจัยทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ เนื่องจากมีการปรับระเบียบให้การบริหารงานและระเบียบการบริหารงานบุคคล รวมถึงการมีปัจจัยสนับสนุนคือสวนอุตสาหกรรม 3. การบริหารงานการเงินและทรัพย์สินมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาแหล่งรายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะจากการให้บริการทางวิชาการและการวิจัย มหาวิทยาลัยมีระบบ ระเบียบในการบริหารงบประมาณ การเงิน และบัญชีของตนเอง ทำให้เกิดความคล่องตัวในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดีความมั่นคงทางการเงินของมหาวิทยาลัยยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และมีรายจ่ายด้านบุคลากรที่สูงมาก 4. การบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงานบุคคล โดยระเบียบหลักเกณฑ์เป็นของตนเอง และบุคลากรมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น 5. ปัญหาและอุปสรรคของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือ การปรับแนวคิดพฤติกรรมการทำงานของบุคลากร และการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ