Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพและทางกลของขี้ผึ้งบันทึกการสบฟันที่เตรียมขึ้นใหม่ 5 สูตร เปรียบเทียบกับขี้ผึ้งบันทึกการสบฟันที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า ได้แก่ ALUWAX (USA.) และ ALMINAX (UK.) และขี้ผึ้งที่ผลิตในประเทศไทย (ALUT) ตอนที่ 1 ศึกษาระยะการแทรกผ่านโดยพีนีโตรมิเตอร์ในตู้จำลองสภาวะช่องปากอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ทำการวิเคราะห์ทางสถิติด้วยความแปรปรวนสองทาง (Two-way ANOVA) และเปรียบเทียบเชิงซ้อนทูกีย์ และทามเฮน (α = 0.05) ผลคือ การเติมคาร์นูบาในขี้ผึ้งบันทึกการสบฟันสูตรหลัก จะมีผลทำให้ระยะการแทรกผ่านโดยพีนีโตรมิเตอร์มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตอนที่ 2 ศึกษาความแข็งผิวโดยเครื่องทดสอบค่าความแข็งผิวชอร์ เอ ที่อุณหภูมิต่าง ๆ วิเคราะห์ทางสถิติด้วยความแปรปรวนสองทาง (Two-way ANOVA) และเปรียบเทียบเชิงซ้อนทามเฮน (α = 0.05) ผลคือ การเติมคาร์นูบาในสูตรหลัก จะส่งผลให้ความแข็งผิวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และค่าความแข็งผิวจะมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น ตอนที่ 3 ศึกษาการเปลี่ยนแปลงมิติเชิงเส้นหลังก่อตัว ที่เวลาต่าง ๆ โดยกล้องไมโครสโคป วิเคราะห์ทางสถิติด้วยความแปรปรวนสองทาง (Two-way ANOVA) และเปรียบเทียบเชิงซ้อนทามเฮน (α = 0.05) ผลคือ การเติมคาร์นูบาในสูตรหลัก จะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงมิติเชิงเส้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปผล พบว่าขี้ผึ้งบันทึกการสบฟันที่เตรียมขึ้นใหม่สูตร C10 เป็นสูตรที่มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงมิติเชิงเส้นที่น้อยกว่า และมีค่าความแข็งผิวที่สูงกว่าขี้ผึ้งบันทึกการสบฟันสูตรหลัก สูตร C05 และขี้ผึ้งบันทึกการสบฟันทางการค้า