Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินคดีอาญากับภิกษุสงฆ์ของพนักงานสอบสวน ศึกษาหลักเกณฑ์ขั้นตอน และวิธีการดำเนินคดีอาญากับภิกษุสงฆ์ของพนักงานสอบสวน ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ศึกษาความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ในการดำเนินคดีอาญากับภิกษุสงฆ์ในทางปฏิบัติของพนักงานสอบสวน เพื่อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีอาญากับภิกษุสงฆ์ที่เกิดขึ้นกับพนักงานสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยนำกรอบแนวคิดดังนี้ คือ แนวคิดการดำเนินคดีอาญา แนวคิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แนวคิดการคบค้าสมาคม แนวคิดเกี่ยวกับความคิดเห็น แนวคิดการบวชเรียนในพุทธศาสนา แนวคิดความเชื่อเรื่องบุญและบาปในพุทธศาสนา ทฤษฏีโครงสร้างการหน้าที่นิยม ทฤษฏีการบังคับใช้กฎหมาย และทฤษฏีการควบคุมทางสังคม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ พนักงานสอบสวนที่มีประสบการณ์ในการดำเนินคดีอาญากับภิกษุสงฆ์จำนวน 20 นาย ที่ประจำอยู่ในสถานีตำรวจนครบาล ในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 7 – 8 ผลการพิสูจน์สมมติฐาน พบว่า สมมติฐาน 5 ข้อ ได้รับการยอมรับ จึงสรุปได้ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินคดีอาญากับภิกษุสงฆ์ของพนักงานสอบสวน : ศึกษากรณีกองบังคับการตำรวจนครบาล 7 – 8 ได้แก่ อายุ ระยะเวลาในการทำงาน ยศ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการคบค้าสมาคม