Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการปรับอัตราภาษีต่อสวัสดิการทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านส่วนเกินผู้บริโภคและรายได้ที่รัฐบาลได้รับจากการเก็บภาษีรถยนต์นั่ง ช่วงเวลาที่ทำการศึกษาคือ เดือนมกราคม พ.ศ. 2544 – เดือนกันยายน พ.ศ. 2547 โดยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง ศึกษาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์โดยศึกษาเฉพาะรถยนต์นั่งที่ผลิตในประเทศเท่านั้น และส่วนที่สอง ศึกษาผลกระทบจากการลดการคุ้มครองอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการลดอัตราภาษีศุลกากรที่เก็บจากรถยนต์โดยศึกษาเฉพาะผลต่อรถยนต์นั่งนำเข้าเท่านั้น การศึกษารถยนต์นั่งที่ผลิตในประเทศจะแบ่งรถยนต์ออกเป็น 3 ขนาดตามความจุกระบอกสูบ คือ รถยนต์ขนาดไม่เกิน 1600 ซีซี รถยนต์ขนาด 1601-2000 ซีซี และรถยนต์ขนาด 2501-3000 ซีซี ส่วนการศึกษารถยนต์นั่งนำเข้าจะแบ่งรถยนต์ออกเป็น 2 ขนาดตามความจุกระบอกสูบ คือ รถยนต์ขนาดเล็ก (ไม่เกิน 2400 ซีซี) และรถยนต์ขนาดใหญ่ (เกินกว่า 2400 ซีซี) ทางด้านอุปทานของรถยนต์ได้สมมติให้อุปทานรถยนต์มีความยืดหยุ่นต่อราคาเท่ากับอนันต์ วิธีการศึกษา ได้สร้างสมการอุปสงค์ของรถยนต์นั่งที่ผลิตในประเทศและรถยนต์นั่งนำเข้า โดยแบ่งออกเป็นสมการของผู้มีงานทำที่มีอายุ 25-39 ปี และสมการของผู้มีงานทำที่มีอายุ 40-60 ปีขึ้นไป และใช้ตัวแปรอธิบาย ดังนี้ ราคารถยนต์นั่ง อัตราแลกเปลี่ยน จำนวนผู้มีงานทำที่มีอายุ 25-39 ปี และ 40-60 ปีขึ้นไป ราคาน้ำมันเบนซิน และรายได้ประชาชาติ ส่วนการประมาณค่าได้ใช้วิธี Generalized Least Square นำผลที่ได้ไปคำนวณผลกระทบของการลดอัตราภาษีต่ออุปสงค์ของรถยนต์นั่งและราคา ส่วนค่าสัมประสิทธิ์ต่างๆ ก็นำมาใช้ในการคำนวณในสมการเพื่อหาผลต่อส่วนเกินผู้บริโภคที่แท้จริง ผลการศึกษาพบว่ากรณีภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขนาดต่ำกว่า 1600 ซีซี ที่อัตราภาษีลดลงจาก 35% เป็น 30% ส่วนเกินผู้บริโภคที่แท้จริงเพิ่มขึ้นประมาณ 18,934 บาทต่อคัน โดยเป็นส่วนที่โอนมาจากภาษีรถยนต์ของรัฐบาล 17,812 บาท เช่นเดียวกันกับกรณีรถยนต์ขนาดต่ำกว่า 1600 ซีซี รถยนต์ 1601-2000 ซีซี มีส่วนเกินผู้บริโภคแท้จริงประมาณ 30,716 บาท เป็นส่วนที่โอนมาจากรายได้รัฐ 28,956 บาท ส่วนรถยนต์ขนาด 2501-3000 ซีซี ซึ่งอัตราภาษีลดลงจาก 41% เป็น 40% มีส่วนเกินผู้บริโภคประมาณ 7,514 บาท โดยโอนมาจากรายได้รัฐ 7,446 บาท กรณีรถยนต์นั่งนำเข้า หากไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรร่วมด้วย รถยนต์ขนาดเล็ก จะมีส่วนเกินผู้บริโภคแท้จริง 572,213 บาท โดยโอนมาจากรายได้รัฐ 351,917 บาท ส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่มีส่วนเกินผู้บริโภคแท้จริง 686,883 บาท โดยโอนมาจากรายได้รัฐ 195,320 บาท ผลการศึกษาชีให้เห็นว่าการลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ผลได้ทางเศรษฐกิจตกเป็นของผู้บริโภครถยนต์ขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะรถขนาดเล็กเป็นรถที่ผู้คนส่วนใหญ่บริโภคและมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันดีกว่ารถยนต์ขนาดใหญ่ ส่วนกรณีภาษีศุลกากร การลดอัตราภาษีลง 100% หรือไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรจะทำให้สวัสดิการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากอัตราภาษีศุลกากรเดิมสูงถึงร้อยละ 80