Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปร่างและพฤติกรรมการยึดเกาะของเซลล์ไลน์กระดูกบนพื้นผิวไทเทเนียมอัลลอยด์ที่มีการเตรียมพื้นผิวให้มีความขรุขระแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือ เซลล์ไลน์ของกระดูกชนิด SaOs2 และชิ้นโลหะไทเทเนียมอัลลอยด์รูปทรงกลมขนาดเว้นผ่านศูนย์กลาง 15 มิลลิเมตร หนา 2 มิลลิเมตร ที่มีการเตรียมพื้นผิว จำนวน 4 แบบ คือพื้นผิวที่เป็น Sandblast (SB) พื้นผิวที่ขัดด้วยกระดาษ Silicon carbide เบอร์ 120 (S120), 400 (S400) และ 1200 (S1200) ตามลำดับ สำหรับลักษณะพื้นผิวของไทเทเนียมอัลลอยด์แต่ละชนิดทำการศึกษาโดยใช้ Scanning Electron Microscope (SEM) วัดค่าความขรุขระของพื้นผิว (Surface roughness: Ra) ด้วยเครื่อง Profilometer ศึกษารูปร่าง การยึดเกาะและการแพร่กระจายของเซลล์บนพื้นผิวของไทเทเนียมอัลลอยด์ด้วย SEM และเปรียบเทียบ Cell Attachment and Proliferation ด้วยการวัดค่า DNA Assey ผลการศึกษาพบว่า ความขรุขระของพื้นผิวไทเทเนียมอัลลอยด์ ทั้ง 4 แบบ มีความแตกต่างกัน โดยมีค่า Ra ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) พื้นผิวชนิด sandblast มีค่า Ra สูงสุด (Ra = 0.27±0.01) จำนวนเซลล์ที่ยึดเกาะและแพร่กระจายบนพื้นผิวไทเทเนียมอัลลอยด์ทั้ง 4 แบบ มีความแตกต่างกันและพบว่า เซลล์ยึดเกาะและแพร่กระจายได้ดีบนพื้นผิวไทเทเนียมอัลลอยด์ที่มีพื้นผิวขรุขระมากกว่าค่า DNA ที่เวลา 30 นาทีพบว่า ปริมาณ DNA ของเซลล์ที่ยึดเกาะบนพื้นผิวของไทเทเนียมอัลลอยด์ชนิด sandblast มีค่ามากกว่าปริมาณ DNA ของเซลล์ที่ยึดเกาะบนพื้นผิวของไทเทเนียมอัลลอยด์ชนิดอื่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) และค่า DNA ที่เวลา 20 ชั่วโมง พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>.05) ระหว่างปริมาณ DNA ของเซลล์ที่ยึดเกาะบนพื้นผิวของไทเทเนียมอัลลอยด์ชนิด sandblast เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณ DNA ของเซลล์ที่ยึดเกาะบนพื้นผิวไทเทเนียมอัลลอยด์ชนิด S120 และ S400 ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพื้นผิวของไทเทเนียมอัลลอยด์ต่อพฤติกรรมของเซลล์กระดูกในห้องปฏิบัติการ