Abstract:
การศึกษาทางระบาดวิทยาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ cross-sectional โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความชุกและความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบและเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการสูบบุหรี่กับสภาวะโรคปริทันต์อักเสบอนามัยช่องปากและอัตราการสูญเสียฟันในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานผู้สูงอายุของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่มีอายุ 49-72 ปี ที่เข้าร่วมโครงการการวิจัยเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและได้รับการตรวจฟัน 2,276 คน แลได้รับการตรวจสภาวะปริทันต์ 2,005 คน โดยจะได้รับการตรวจสภาวะปริทันต์เมื่อมีฟันอย่างน้อย 6 ซี่ใน 2 ส่วนของช่องปากที่สุ่มเลือกมา ทำการตรวจหาปริมาณคราบจุลินทรีย์ วัดความลึกของร่องลึกปริทันต์ การร่นของเหงือกและการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ซี่ละ 6 ตำแหน่ง การวินิจฉัยโรคปริทันต์อักเสบได้จากระดับร่องลึกปริทันต์ร่วมกับการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้จากการตอบแบบสอบถาม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าผู้สูงอายุในกลุ่มตัวอย่างเป็นโรคปริทันต์อักเสบร้อยละ 82.0 ซึ่งแบ่งเป็นโรคปริทันต์อักเสบระดับต้นร้อยละ 42.2 ระดับกลางร้อยละ 29.3 และระดับรุนแรงร้อยละ 10.5 จากการวิเคราะห์ด้วยสถิติ one way ANOVA พบว่าค่าเฉลี่ยความลึกของร่องลึกปริทันต์และค่าเฉลี่ยการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์มีค่ามากที่สุดในกลุ่มที่สูบบุหรี่ รองลงมาคือกลุ่มที่เคยสูบ และกลุ่มที่ไม่สูบตามลำดับ โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (p<0.01) ส่วนค่าเฉลี่ยฟันที่สูญเสียไปและค่าเฉลี่ยร้อยละของคราบจุลินทรีย์มีค่ามากที่สุดในกลุ่มที่สูบบุหรี่ รองลงมาคือกลุ่มที่เคยสูบ และกลุ่มที่ไม่สูบตามลำดับ โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (p<0.05) ส่วนผลการวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงโดยใช้สถิติ Logistic Regression Analysis และควบคุมตัวแปรที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคปริทันต์อักเสบคือ โรคเบาหวาน ปริมาณคราบจุลินทรีย์และอายุ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบเป็น 2.3 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ (95% CI: 1.54-8.62) และยังพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบระดับรุนแรงเป็น 4.2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ (95% CI: 2.58-8.62) ส่วนผู้ที่เคยสูบบุหรี่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบระดับรุนแรงเป็น 2.2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ (95% CI: 1.41-3.43) นอกจากนี้การเป็นโรคปริทันต์อักเสบยังขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาการสูบสะสม โดยผู้ที่สูบมากกว่า 10 packyears จะมีโอกาสเป็นโรคปริทันต์อักเสบมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 2.4 เท่า (95% CI: 1.40-3.96) และระยะเวลาที่กลุ่มตัวอย่างเลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปมีผลในการลดความชุกของการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ โดยเฉพาะในระดับต้นและระดับกลาง จากการวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่าโรคปริทันต์อักเสบเป็นโรคที่มีความชุกสูงในผู้สูงอายุของพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคปริทันต์อักเสบได้มากกว่าผู้ที่เคยสูบบุหรี่หรืไม่สูบบุหรี่ ระยะเวลาการเลิกสูบบุหรี่มีผลลดความชุกของการเกิดโรคปริทันต์อักเสบในกลุ่มตัวอย่างนี้ ดังนั้นการสูบบุหรี่จึงเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยง (risk indicator) อย่างหนึ่งของโรคปริทันต์อักเสบ