Abstract:
ไลเคนพลานัส เป็นโรคเรื้อรังของเยื่อเมือกและผิวหนัง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ 0.1% ชนิดขี้ผึ้ง (FAO) กับยาโคลเบตาโซล โพรพิโอเนต 0.05% ชนิดขี้ผึ้ง (CPO) ในการรักษาผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปาก โดยผู้ป่วยที่มีผลทางพยาธิวิทยายืนยันเป็นโรคไลเคนพลานัส จำนวน 26 ราย (หญิง 19 ราย ชาย 7 ราย) จะถูกแบ่งอย่างสุ่มเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยา FAO และกลุ่มที่ได้รับยา CPO ให้ผู้ป่วยทายาวันละ 3 ครั้ง แล้วประเมินอาการเจ็บปวด คะแนนลักษณะทางคลินิก และขนาดรอยแดงที่สัปดาห์ที่0 (เริ่มต้น) 1 2 และ 4 หลังการใช้ยา และจำนวนโคโลนีเชื้อราในน้ำลายก่อนและหลังการใช้ยาที่สัปดาห์ที่ 4 และเมื่อสิ้นสุดการรักษา 4 สัปดาห์จะประเมินการหายของรอยโรคเป็น Complete remission (CR) Partial remission (PR) และ No response (NR) นอกจากนี้ยังได้ตรวจการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปากระหว่างการใช้ยาเป็นระยะๆอีกด้วย พบว่ายาทั้งสองให้ผลการรักษารอยโรคไลเคนพลานัสในช่องปากไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ทั้งลักษณะทางคลินิกของรอยโรคและอาการเจ็บปวดภายในช่องปากของผู้ป่วย แต่พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ยา CPO มีแนวโน้มผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่ใช้ยา FAO โดยพบผู้ป่วยมี CR หลังการรักษา 4 สัปดาห์มากกว่า (ผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้ยา CPO พบ CR ร้อยละ 15.4 และผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้ยา FAO พบ CR ร้อยละ 7.7) นอกจากนี้ยังพบว่ายา CPO มีแนวโน้มลดอาการเจ็บปวดภายในช่องปากของผู้ป่วยได้รวดเร็วมากกว่ายา FAO (ผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้ยา CPO มีค่า VAS ลดลง 0.15 ซม.ต่อวัน และผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้ยา FAO มีค่า VAS ลดลง 0.1 ซม.ต่อวัน) ในขณะที่การติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปากระหว่างการรักษาด้วยยาทั้งสองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.420) (พบร้อยละ40 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยา CPO และร้อยละ 60 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยา FAO) จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าทั้งยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ และ ยาโคลเบตาโซล โพรพอโอเนต ให้ผลการรักษารอยโรคไลเคนพลานัสในช่องปากได้ผลดีไม่แตกต่างกัน