Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังและปัจจัยในการเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่นของผู้นำสตรี และรูปแบบการใช้อำนาจบริหารของผู้นำสตรีในท้องถิ่นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยผ่านทัศนะและการมีส่วนร่วมของชุมชน และปัจจัยด้านเพศสภาพส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นการศึกษาเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้หญิง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลสีสุก อำเภอแก้งสนามนาง องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกรวด และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเมืองนครราชสีมา การเก็บข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแบบเจาะลึก 3 ท่าน การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่ม ประกอบด้วย ประชาชน เครือข่ายสตรี และบุคคลที่ร่วมปฏิบัติงานกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 36 คน โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์ ผลการวิจัย พบว่า การที่สตรีก้าวเข้ามาสู่ผู้นำท้องถิ่นได้ต้องมีบทบาทการต่อสู้ที่เริ่มตั้งแต่ภายในครอบครัว จนถึงสังคมภายนอก และมีปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้นำสตรีสามารถเข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่นได้สำเร็จ ประกอบด้วยความสัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มนักการเมือง ค่านิยมในฐานะความเป็นผู้นำสตรี พลังกลุ่มเครือข่ายสตรี และอำนาจการครอบครองปัจจัยการผลิต ซึ่งต่างมีความสำคัญและสัมพันธ์ต่อกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบริหารจัดการท้องถิ่นของผู้นำสตรีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองโดยประชาชน มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแก้ไขปัญหาในชุมชนมากขึ้น ด้านเศรษฐกิจประชาชนสามารถเลือกอาชีพเสริมตามที่ถนัดและต้องการโดยไม่มีการบังคับ และด้านสังคมเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตสวัสดิการสมาชิกในชุมชนมากกว่าเน้นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัจจัยด้านเพศสภาพทั้งความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างสภาพ เศรษฐกิจ และครอบครัว ได้มีส่วนส่งเสริมการปฏิบัติงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมากกว่าเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ภาพรวมในการดำเนินงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้หญิงส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่พอใจและยอมรับผลการปฏิบัติงานอย่างมาก