Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาเรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ในด้านองค์ประกอบ กลวิธีการประพันธ์ และบทบาทหน้าที่ที่มีต่อวงวรรณกรรม ประวัติศาสตร์และการเมือง ในด้านองค์ประกอบ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เรื่องสั้น 61 เรื่อง ซึ่งแต่งระหว่างปี 2516 และ 2545 พบเรื่องสั้น บันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มีแก่นเรื่องสำคัญแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มความเปลี่ยนแปลงของคนและอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มเผยแพร่ความรุนแรงโหดร้ายของเหตุการณ์ 6 ตุลา กลุ่มปลุกจิตสำนึกให้ต่อสู้ และกลุ่มยกย่องเชิดชูการกระทำของผู้เสียสละในเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ตัวละครที่พบมากที่สุด คือ ตัวละครสมมติซึ่งผู้แต่งสร้างขึ้นโดยนำรายละเอียดข้อเท็จจริงบางประการในเหตุการณ์มาผสมผสานไว้ นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่นำมาจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์อันช่วยสร้างความสมจริงให้แก่เรื่อง โครงเรื่องที่ปรากฏมี2 แบบคือ โครงเรื่องแบบลำดับปรกติและโครงเรื่องแบบสลับลำดับเหตุการณ์โดยใช้กลวิธีการเล่าย้อนหลัง ซึ่งจะพบในงานเขียนประเภทบันทึกเช่นกัน ความขัดแย้งหลักของเรื่อง คือ ความขัดแย้งระหว่างตัวละครฝ่ายรัฐกับตัวละครฝ่ายนิสิตนักศึกษาซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของฉาก ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มีฉากเฉพาะที่ตรงกับสถานที่และเวลาของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ส่วนมากจะถูกนำเสนอในลักษณะของฉากที่ไม่ระบุเวลาและสถานที่ การให้รายละเอียดของเหตุการณ์ทางการเมืองในเนื้อเรื่องช่วยทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงฉากที่ไม่ระบุเวลาและสถานที่เข้ากับเวลาและสถานที่จริงตามประวัติศาสตร์ได้ องค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แสดงให้เห็นการผสมผสานลักษณะสำคัญของงานเขียนประเภทเรื่องสั้นและบันทึกเข้าด้วยกัน ในด้านกลวิธี ผู้วิจัยได้ใช้ทฤษฎีศาสตร์แห่งเรื่องเล่าเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้เล่าเรื่องชั้นในแบบสัมพันธ์เป็นกลวิธีที่ใช้มากที่สุด มุมมองที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องราวจะเป็นมุมมองภายในของตัวละครที่อยู่ฝ่ายนิสิตนักศึกษา การรับรู้ของผู้อ่านจึงถูกจำกัด ซึ่งมีผลต่อความเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องสั้น การเลือกใช้ผู้เล่าเรื่องชั้นในและมุมมองภายในเป็นกลวิธีที่สอดคล้องกับกลวิธีของบันทึกประเภทอัตชีวประวัติ บันทึกความทรงจำและอนุทิน เรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มีบทบาทหน้าที่ต่อวงวรรณกรรม คือ ก่อให้เกิดงานเขียนประเภทเรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นประเภทย่อยของงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต อีกทั้งยังแสดงคุณค่าในเชิงมนุษยนิยมของวรรณกรรมเพื่อชีวิตในแง่ที่แสดงให้เห็นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อความถูกต้อง เป็นธรรม และต่อต้านการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้เรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ยังมีบทบาทในด้านประวัติศาสตร์และการเมือง โดยเรื่องสั้นมีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการสร้างตัวตนของนิสิตนักศึกษาผู้ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาใน 2 ลักษณะ คือ ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทำร้ายและวีรชนผู้เสียสละของชาติ ตัวตนทั้งสองนี้ส่งผลให้เรื่องสั้นมีบทบาทในการวิพากษ์การกระทำของรัฐและเรียกร้องความเป็นธรรม และบทบาทในการเรียกร้องและตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519