Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สองประการคือ ประการแรกเพื่อศึกษาถึงความชุกของการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ประการที่สองเพื่อศึกษาถึงชนิดของการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ และสถานที่ที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจำแนกตามลักษณะภูมิหลังทางประชากร พฤติกรรมเสี่ยงและสภาพแวดล้อมของประชากรที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุรุนแรง ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากโครงการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2546 ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกในครัวเรือนตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้ได้เลือกศึกษาเฉพาะผู้ที่ตอบแบบสอบถามด้วยตนเองที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนตัวอย่างในการศึกษาทั้งสิ้น 37,202 คน (จำนวนไม่ถ่วงน้ำหนัก) ผลการศึกษา พบว่า เพศ อายุ การดื่นสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา และเขตที่อยู่อาศัย มีความสัมพันธ์กับการเคยได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ สำหรับในส่วนความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆกับความรุนแรงของการเคยได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุนั้น พบว่า รายได้ และเขตที่อยู่อาศัย ผันแปรผกผันกับการเคยได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ สำหรับผลการศึกษาถึงชนิดของการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ พบว่า สองในห้าได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากยานพาหนะ รองลงมา ถูกทำร้ายร่างกาย ที่เหลือได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการพลัดตก หกล้ม อุบัติเหตุจากการทำงาน และอุบัติเหตุอื่นๆ ตามลำดับ ส่วนสถานที่ที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุพบว่า ประชากรได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด รองลงมาคือ ภายในบ้าน/บริเวณบ้าน สถานที่อื่นๆ และในที่ทำงาน ตามลำดับ