การวิจัยเรื่องความสามารถในการใช้ภาษาไทยของเด็กอายุ 2-3 ขวบนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาความสามารถในด้านการออกเสียง การใช้คำศัพท์ และการสร้างประโยค การศึกษาถึงความสามารถที่จะเข้าใจความหมาย ในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของเด็กในวัย 2-3 ขวบ ผู้วิจัยสุ่มตัวอย่างประชากร ซึ่งเป็นเด็กอายุ 2-3 ขวบ ในเดือนกันยายน 2525 โดยไม่จำกัดเพศ ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 20 สุ่ม บันทึกคำสนทนาของตัวอย่างประชากรในช่วงเวลาต่างๆ กัน ลงในเทปบันทึกเสียงคนละประมารณ 5 ชั่วโมง นำเทปคำสนทนาดังกล่าวมาถ่ายเทปตามข้อความที่สนทนาโดยตลอด ตรวจสอบความถูกต้องในการถ่ายเทปอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นวิเคราะห์ความสามารถในการออกเสียง การใช้คำศัพท์ และการสร้างประโยคของตัวอย่างประชากร โดยการตรวจสอบการปรากฎและการไม่ปรากฏของการใช้ภาษาในด้านต่างๆ ดังกล่าว แล้วสรุปผลการวิเคราะห์ในรูปตาราง และสรุปความสามารถที่จะเข้าใจความหมายในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในรูปของความเรียง ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1. ในด้านการออกเสียง ตัวอย่างประชากรซึ่งเป็นเด็กอายุ 2-3 ขวบ ส่วนใหญ่สามารถออกเสียง สระเดี่ยว สระผสม และวรรณยุกต์ ในภาษาไทยได้ทุกเสียง และสามารถออกเสียงพยัญชนะต้นได้เกือบครบทุกเสียง ยกเว้นเสียง ส / S / และ ร / r / สำหรับพยัญชนะตัวสะกดส่วนใหญ่ออกได้ทุกเสียง แต่ยังมีบางคนที่ออกเสียงแม่กดเป็นแม่กก และแม่กนเป็นแม่กง ตัวอย่างประชากรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะควบกล้ำได้ นอกจากนี้ยังสามารถออกเสียงเน้นประโยค ทั้งเสียงเน้นปกติ และเสียงเน้นหนักได้ถูกต้อง แต่ยังออกเสียงเน้นหนักพิเศษได้น้อย ส่วนการใช้ช่วงต่อของเสียงในประโยคนั้น ส่วนใหญ่สามารถใช้ช่วงต่อเสียงแนบชิดได้ถูกต้อง ส่วนการใช้ช่วงต่อห่างประเภทเสียงตก และเสียงขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ใช้ได้ถูกต้องเช่นกัน แต่ยังใช้ช่วงต่อห่างประเภทคงระดับน้อย 2. ในด้านการใช้คำศัพท์ ตัวอย่างประชากรซึ่งเป็นเด็กอายุ 2-3 ขวบ ส่วนใหญ่สามารถใช้คำศัพท์ 1 และ 2 พยางค์ได้มากที่สุด สามารถใช้คำ 3 และ 4 พยางค์ได้บ้าง แต่มักจะลดพยางค์ลงโดยที่คำใดมี 3 พยางค์ก็จะลดลงเหลือ 2 พยางค์ คำ 4 พยางค์ก็จะลดลงเหลือ 3 พยางค์ สำหรับชนิดของคำที่ใช้ ตัวอย่างประชากรใช้คำนามและคำกริยามากที่สุด คำคุณศัพท์รองลงมา คำกริยาวิเศษณ์ยังใช้กันได้น้อย นอกจากนี้ยังรู้จักใช้คำศัพท์เฉพาะ เช่น คำที่เกี่ยวกับจำนวนนับ คำที่เกี่ยวกับสี คำที่เกี่ยวกับปริมาณ เวลา ลักษณะ และคำนามธรรมได้แต่งยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายดีนัก 3. ในด้านรูปประโยค ตัวอย่างประชากรซึ่งเป็นเด็กอายุ 2-3 ขวบ ส่วนใหญ่สามารถใช้รูปประโยคเอกัตถประโยคที่สมบูรณ์ได้ และเริ่มใช้อเนกัตถประโยคมากขึ้น แต่ยังใช้สังกรประโยคได้น้อยมาก นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยคบอกเล่า ปฏิเสธ คำถาม และคำสั่งได้ สำหรับการเรียงลำดับคำในประโยค ส่วนใหญ่เรียงได้ถูกต้อง แต่ก็ยังมีบางคนที่เรียงตำแหน่งคำผิดอยู่บ้าง ในด้านการเข้าใจความหมาย ตัวอย่างประชากรซึ่งเป็นเด็กอายุ 2-3 ขวบ ส่วนใหญ่เข้าใจความหมายของคำต่างๆ ที่ใช้ได้ดี สามารถสื่อสารด้วยคำพูดโดยตรง มีการใช้ท่าทางประกอบคำพูดบ้างไม่มากนัก แต่ยังใช้คำประเภทคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ คำกริยาวิเศษณ์ และคำลักษณะนามผิดอยู่บ้าง โดยที่ยังใช้คำในประโยคมากเกินความจำเป็น บางครั้งตัดคำที่จำเป็นออกไป หรือใช้คำโดยที่ยังไม่เข้าใจความหมาย