Abstract:
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ได้แก่ การสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เพื่อจำลองระบบการผลิตระดับไร่นาในเขตจัดรูปที่ดินโครงการชัณสูตร ในพื้นที่โครงการชลประทานลุ่มเจ้าพระยาตอนบน แบบจำลองนี้เปรียบเสมือนห้องทดลอง เพื่อวางแผนพัฒนา นโยบายพัฒนาเกษตรกรรมจะถูกนำมาทดสอบกับแบบจำลองเพื่อศึกษาพฤติกรรมของระบบอันสืบเนื่องจากการใช้นโยบาย เทคนิคการซีมูเลชั่น ช่วยให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของระบบเป็นขั้นๆ ตามลำดับเวลา และช่วยให้สามารถทำการเปรียบเทียบผลของนโยบายได้อย่างละเอียด วิธีการที่ใช้ เรียกว่า System Dynamics แบบจำลองแสดงด้วยภาษา Dynamo ประกอบด้วยระบบย่อย ๑๓ ระบบ การวิเคราะห์ได้ใช้นโยบายเกี่ยวกับอัตราการคืนทุนการจัดรูปที่ดิน ประชากร การจัดพืชเพาะปลูก รายได้นอกการเกษตร นโยบายเงินกู้ระยะสั้น และสินเชื่อปัจจัยการผลิต ฯลฯ ผลการทดสอบนโยบายแสดงค่าตัวแปรในเรื่อง การจ้างงาน น้ำชลประทาน เครื่องจักรการเกษตรงบประมาณ ภาวะหนี้สิน ฯลฯ อยู่ในตารางและกราฟ ๒๐ ปี ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ การสร้างงานนอกการเกษตรเป็นนโยบายช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรที่ได้ผลอย่างยิ่ง โครงการช่วยเหลือด้านเงินกู้ระยะสั้นและสินเชื่อปัจจัยการผลิต อาจยังผลให้มูลค่าหนี้สินของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น สำหรับนโยบายกำหนดเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังเพียงร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ปรากฎว่า รายได้จากผลผลิตรวมกับรายได้จากข้าวนาปีปลูกเต็มเนื้อที่ และรายได้นอกการเกษตรไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทต่อปี แทบจะไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและการผ่อนชำระค่าจัดรูปที่ดิน ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยออกบางส่วนอยู่แล้ว ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ พบว่าเนื้อที่ถือครองต่อครัวเรือนไม่ควรต่ำกว่า ๒๐ ไร่ การทดสอบแสดงให้เห็นว่าอ้อยเป็นพืชทดแทนที่ดีถ้ามีน้ำจำกัด เพราะรายได้ต่อปริมาณน้ำที่ใช้ของอ้อยสูงกว่าข้าว